การเล่าเรื่องและภาษาภาพยนตร์ในภาพยนตร์ปาล์มทองคำ ในปี ค.ศ. 2010-2019
คำสำคัญ:
ภาพยนตร์, การเล่าเรื่อง, ภาษาภาพยนตร์บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง “การเล่าเรื่องและภาษาภาพยนตร์ในภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำในปี ค.ศ. 2010-2019” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเล่าเรื่องและภาษาภาพยนตร์ในภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำในปี ค.ศ. 2010-2019 โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านการวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) แนวคิดสำคัญที่ใช้ในการศึกษาวิจัยประกอบด้วย แนวคิดการเล่าเรื่อง (Film Narration) และแนวคิดภาษาภาพยนตร์ (Film Language) สำหรับภาพยนตร์ที่นำมาวิจัยประกอบด้วย ภาพยนตร์ที่ได้รางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ Uncle Boonmee Who Can Recall His Lives (2010), The Tree of Life (2011), Amour (2012), Blue Is The Warmest Colour (2013), Dheepan (2015), Shoplifters (2018), Parasite (2019)
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำมักมีการใช้การเล่าเรื่องลักษณะดังนี้ 1) โครงเรื่อง (Plot) พบว่า ภาพยนตร์ทั้งหมด จะมีการเริ่มเรื่อง (Exposition) โดยเปิดฉากให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของตัวละคร แนะนำตัวละคร และยุคสมัยที่อยู่อาศัย การพัฒนาเหตุการณ์ (Rising Action) มีการให้ตัวละครได้พบกับปัญหาต่างๆที่ต้องแก้ไข ภาวะวิกฤต (Climax) คือการทำให้ตัวละครเกิดความสับสนในใจและต้องตัดสินใจในการกระทำของตัวเอง ภาวะคลี่คลาย (Falling Action) คือการทำให้ตัวละครได้พบกับผลกระทบที่ตัวเองได้ก่อขึ้นและยอมรับความเป็นจริงของโลก การจบเรื่องราว (Ending) พบว่า มีการจบอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือการจบแบบปลายเปิด การจบแบบปลายปิด และการจบแบบหักมุม 2) แก่นความคิด (Theme) พบว่า ภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีแก่นความคิดเกี่ยวกับชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ 3) ความขัดแย้ง (Conflict) พบว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อความขัดแย้งภายในจิตใจ เพื่อให้ตัวละครได้เกิดการตั้งคำถามของตัวเอง 4) ตัวละคร (Charactor) พบว่า มักมีการนำเสนอตัวละครในลักษณะตัวกลมเพื่อให้เกิดมิติเชิงลึกของตัวละคร 5) ฉาก (Setting) พบว่าภาพยนตร์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับฉากที่เป็นการดำเนินชีวิตของตัวละคร และเน้นยุคสมัยปัจจุบันเป็นหลัก 6) สัญลักษณ์ (Symbol) พบว่ามีการเน้นใช้สัญลักษณ์ทางภาพเพื่อสื่อความหมายพิเศษมากกว่าสัญลักษณ์ทางเสียง
สำหรับผลการวิจัยด้านภาษาภาพยนตร์มีข้อค้นพบดังนี้ 1) ขนาดภาพและมุมกล้อง มักมีการใช้ขนาดภาพไกล ขนาดภาพปานกลาง และมีการใช้มุมกล้องระดับสายตาเป็นส่วนใหญ่ 2) มุมภาพและการเคลื่อนกล้อง พบว่า มีการใช้มุมภาพแบบซับเจคทีฟ (Subjective Camera Angle) และการเคลื่อนกล้องแบบแฮนเฮลด์มากเป็นพิเศษ 3) องค์ประกอบด้านการแสดง พบว่ามีการใช้การแสดงทั้งแบบอวัจนภาษาและวัจนภาษา 4) ด้านแสงและเงา พบว่า มีการใช้แสงธรรมชาติและใช้โทนแสงแบบโลว์คีย์มากกว่าโทนแสงแบบไฮคีย์ 5) ด้านสี พบว่า สีส่วนใหญ่เกิดจากสีของเสื้อผ้า และสีของฉาก 6) ด้านเสียง พบว่า มีการใช้เสียงสนทนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องราว และมีการใช้เสียงดนตรีประเภทดนตรีคลาสสิคและดนตรีประเภทวงออร์เคสตราเพื่อช่วยกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม 7) ด้านการตัดต่อ พบว่า มีการใช้การตัดต่อแบบต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเน้นให้เกิดความสมจริงด้านเวลามากที่สุด
References
กฤษดา เกิดดี. (2557) ภาพยนตร์ : ทฤษฎี วิจัย และวิจารณ์. : พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัท บุ๊คบุรี จำกัด
นิพนธ์ คุณารักษ์. (2552). ภาษาภาพยนตร์: องค์ประกอบของภาพยนตร์. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา.(2533) ศิลปะแขนงที่เจ็ด เพื่อวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์ : พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เม็ดทราย
ประพนธ์ ตติยวรกุลวงศ์. (2553) การเล่าเรื่องและทัศนคติของผู้ชมเกี่ยวกับความรุนแรงในภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด. วิทยานิพนธ์ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปิยวรรณ จิตสำราญ. (2554). การเล่าเรื่องและสื่อความหมายภาพยนตร์ เอเชียร์ ตะวันออกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล้างแค้น (Unpublished Master’s thesis). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.
พรสิทธิ์ พัฒธนานุรักษ์ (2551) เอกสารการสอนชุดวิชาการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น : พิมครั้งที่ 1. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อัญชลี ชัยวรพร (2556) ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น : พิมพ์ครั้งที่ 4 . นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
Blacker, I. R. (1998). The Element of Screenwriting : A Guide For Film And Television Writers. New York: Collier Book.