การเคลื่อนกล้องเพื่อสื่อความหมายของรายการสารคดีท่องเที่ยว “วิวไฟน์เดอร์”
คำสำคัญ:
การเคลื่อนกล้องเพื่อสื่อความหมาย, รายการสารคดีท่องเที่ยววิวไฟน์เดอร์บทคัดย่อ
การศึกษา “การเคลื่อนกล้องเพื่อสื่อความหมายของรายการสารคดีท่องเที่ยววิวไฟน์เดอร์” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการสื่อความหมายด้วยการเคลื่อนกล้อง และลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการสื่อความหมายด้วยการเคลื่อนกล้องในการถ่ายทำรายการสารคดีท่องเที่ยว เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการวิเคราะห์รายการสารคดีท่องเที่ยววิวไฟน์เดอร์ และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สร้างสรรค์ ผู้ผลิตรายการวิวไฟน์เดอร์ และรายการท่องเที่ยวอื่นๆ สุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ผลการวิจัย พบว่า
1. การวิเคราะห์รายการวิวไฟน์เดอร์ พบว่า ภาพบุคคลที่ปรากฏจะมีบุคคล และยังมีบุคคลอื่นๆ อยู่ในรายการ เช่น ชาวบ้าน ในด้านภาพบรรยากาศและสถานที่ มีทั้งภูเขาสูงชัน มีหน้าผาสูงเป็นแนวยาว มีพื้นที่ราบ ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ บางสถานที่มีฝนตก มีหมอกปกคลุมอยู่จำนวนมาก บางตอนมีการถ่ายทำทั้งบนเกาะ การถ่ายทำในเมือง เห็นบ้านเรือน ท้องถนน วิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น นอกจากนี้ ยังมีภาพอื่นๆ เป็นภาพการเดินทาง ขณะอยู่ในรถ ภาพการแฝงภาพโฆษณาที่เป็นสปอนเซอร์ และภาพอินโฟกราฟิก แสดงแผนที่
2. ผลการศึกษาลักษณะการสื่อความหมายด้วยการเคลื่อนกล้องในรายการสารคดีท่องเที่ยว ตามแนวคิดภาษาภาพเชิงเทคนิค และแนวคิด The good eye ดังนี้
(1) องค์ประกอบภาพ มีการจัดวางจุดสนใจ คือบุคคล เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งของภาพ เป็นการทำให้บุคคลโดดเด่น เห็นภาพรวมของสถานที่ท่องเที่ยวเป็นองค์ประกอบ มีจัดวางภาพบุคคลลักษณะเต็มตัว จะเห็นท่าทางในการยืน การโน้มตัว การวางมือ แสดงความเป็นธรรมชาติ ไม่เกร็ง ครึ่งตัว จะเห็นส่วนใบหน้าและลำตัว เน้นท่าทาง ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวไม่แข็ง เห็นสีหน้า แววตาชัดเจน และเน้นเฉพาะใบหน้า จะเจาะใกล้ๆ เน้นให้คนดูเฉพาะใบหน้า แสดงสีหน้า แววตาชัดเจน รวมถึงมีการใช้ฉากหลังเป็นสถานที่จริง มีบุคคลอื่นอยู่ในสถานที่ แสดงถึงความเป็นธรรมชาติ การถ่ายจากสถานที่จริง การใช้การย้อนแสงหรือเงามืด เป็นภาพแนวซิลลูเอท มองเห็นเป็นเพียงเงาดำ เน้นที่ตัวบุคคลที่มืดกับฉากหลังที่สว่าง ภาพเติมเต็มอารมณ์ สามารถสื่ออารมณ์ได้ดี ดูน่าสนใจ มีการใช้รูปทรงที่เน้นให้เห็นรายละเอียด 3 มิติ คือ ความกว้าง ความสูง ความลึก รู้สึกเห็นภาพเสมือนจริง อยู่ในสถานที่จริง มีการใช้เส้น เป็นตัวนำไปสู่จุดเด่น หรือจุดสนใจของภาพ และมีการจัดวางภาพตามลักษณะของกฎสามส่วน ภาพที่อยู่บริเวณจุดตัดจะโดดเด่น ดึงดูดสายตาผู้ชม ภาพดูลงตัว มีสัดส่วน และลดความสับสนของผู้ชมได้อย่างดี
(2) การเคลื่อนกล้อง พบลักษณะการเคลื่อนกล้องดังนี้ 1) การแพน ใช้ในหลายโอกาส เช่น การถ่ายทำตามรถที่กำลังขับอยู่ การแพนแบบสำรวจ ในกรณีที่ต้องการนำเสนอภาพบรรยากาศโดยรอบ โดยใช้อุปกรณ์เสริมในการเคลื่อนกล้องทำให้ภาพที่เกิดขึ้นมีลักษณะเคลื่อนไหวไม่ราบเรียบจนเกินไป ใช้ในการทำหน้าที่แบบแทนสายตา 2) การซูม เปลี่ยนจากภาพขนาดมุมกว้างมาเป็นมุมแคบ ทำให้เห็นภาพที่อยู่ไกลๆ ได้ชัดขึ้น รู้สึกว่าสิ่งที่ถ่ายถูกดึงเข้ามาใกล้ตัวหรือถอยห่างออกไป 3) การทิลท์ เน้นให้เห็นสิ่งที่ถ่าย เพื่อเร่งเร้าอารมณ์ความรู้สึก ความสนใจของผู้ชม ต้องการเน้นให้เห็นสิ่งที่ถ่ายในด้านความสูง และการตั้งกล้องรู้สึกนิ่ง สงบ ไม่เคลื่อนไหว
(3) การใช้ตำแหน่งมุมกล้อง มีภาพมุมปกติ ตั้งกล้องระดับเดียวกับสิ่งที่ถ่ายหรือภาพมุมระดับสายตา ให้ความรู้สึกว่าผู้พูดจับจ้องสบตากับกล้องและพูดโดยตรงกับเลนส์กล้อง การใช้ตำแหน่งมุมกล้องภาพมุม และมุมวัตถุ แทนสายตาของผู้ชมที่เป็นผู้สังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม และภาพมุมสูง ให้ผู้ชมเสมือนผู้แอบดูเหตุการณ์
3. ผลการศึกษาลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการสื่อความหมายด้วยการเคลื่อนกล้องในการถ่ายทำรายการสารคดีท่องเที่ยว
(1) ภาพที่เหมาะสมกับความแตกต่างของลักษณะพื้นที่ในรายการวิวไฟน์เดอร์ สถานที่ที่รายการพาไปเที่ยวนั้น จะมีความหลากหลาย ตั้งแต่ที่เป็นธรรมชาติ เช่น หุบเขา ผืนป่า ทะเล ลำธาร หมู่เกาะ เป็นต้น และพื้นที่ สถานที่ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อาคาร ตึก บ้าน โบราณสถาน ย่านเมืองเก่า รีสอร์ต โรงแรม ตลาด สนามบิน ร้านอาหาร เป็นต้น ด้วยรายการวิวไฟน์เดอร์ เป็นรายการที่ถ่ายทำที่สถานที่จริง ภาพจึงเป็นไปตามลักษณะของพื้นที่ นอกจากนี้ รายการวิวไฟน์เดอร์มักใช้ภาพที่เหมาะสมกับความแตกต่างของลักษณะพื้นที่ โดยสถานที่เดียวกัน แต่สามารถนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจในแง่มุมที่ต่างกัน และบรรยากาศที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะรายการมีความเป็นตัวของตัวเอง ในการเสนอภาพ ทำให้ผู้ชมสนุกสนานและได้รู้จักสถานที่นั้นอย่างละเอียด ด้วยภาพที่รายการนำเสนอไว้ ภาพที่เหมาะสมกับความแตกต่างของลักษณะพื้นที่ในรายการวิวไฟน์เดอร์นั้น จุดเด่นที่สำคัญของรายการคือ ภาพ ให้ตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้ชมนั่งชมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ไม่ได้ลุกออกไปเที่ยว ดังนั้น ภาพ คือสิ่งที่จะทำให้ผู้ชมอยากไปเที่ยว และเป็นความสำเร็จของรายการ เน้นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ ภาพสามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวเอง
(2) การสื่อความหมายด้วยการเคลื่อนกล้องในรายการวิวไฟน์เดอร์ พบว่า คำนึงถึงบทบาทของผู้ชม มีการนำเสนอภาพรูปแบบแทนการได้เห็น มีการนำเสนอภาพ รูปแบบดึงผู้ชมเข้ามาพัวพันกับสถานที่ ด้านการเคลื่อนกล้อง พบว่า มักเป็นการเคลื่อนกล้องแบบไม่มีแบบแผน ลักษณะการเคลื่อนกล้องขึ้นอยู่กับลำดับการเล่าเรื่อง มีทั้งการแพน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์หรือเกิดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ถ่ายสองสิ่งอยู่ห่างกัน หรือพื้นที่ของการถ่ายที่แยกอยู่ห่างกัน การซูม เพื่อต้องการให้ผู้ชมโฟกัสกับวัตถุนั้น ให้เห็นรายละเอียดของสิ่งที่โฟกัสได้อย่างชัดเจน และเปลี่ยนขนาดของวัตถุอย่างช้าๆ เพื่อทำให้ดูน่าสนใจหรือให้คนดูตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ การทิลท์ มักจะใช้ในฉากที่ต้องการให้เห็นความสูง แต่ไม่สามารถเคลื่อนตามเส้นตรงได้ เพราะเกินรัศมีกล้อง และการทรักต์ เพื่อการเปลี่ยนตำแหน่ง และทิศทางของกล้องเพื่อกำหนดรูปแบบ ของการนำเสนอภาพในแนวทางใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายของสิ่งที่ถ่าย จะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวในเรื่องมิติ และความลึกของภาพ
References
กนกรัตน์ ยศไกร. (2551). การถ่ายภาพเพื่อการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น.
กุลนารี เสือโรจนิ์. (2561).หลักการเขียนบทเสียงบรรยายภาพสำหรับรายการสารคดีทางโทรทัศน์. ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ดำเนิน ยอดมิ่ง. (2543). ภาษาโทรทัศน์. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์นันทกานต์.
นิยา บิลยะแม, มาโนช ดินลานสกูล และพัชลินจ์ จีนนุ่น. (2559). การประกอบสร้างเนื้อหาในสารคดีเชิงสถานที่ของอเนก นาวิกมูล. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 9. สงขลา: มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.
ภูมิพัฒน์ วรเจริญสิทธิ์. (2553). ความหมายและแก่นจินตนาการของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อภาพถ่ายโฆษณายีนส์ลีวายส์แนวเหนือจริง (Unpublished Master’s Thesis). มหาวิทยาลัยรังสิต, ปทุมธานี.
สุทัศน์ บุรีภักดี. ถ่ายภาพและภาพยนตร์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คุรุสภา (ลาดพร้าว), 2528.
สุเมธ สุวรรณเนตร. (2556). การคิดสร้างสรรค์ภาพเพื่อสื่อความหมายของช่างภาพสารคดีโทรทัศน์. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม - ธันวาคม.
เอมอร คชเสนี. รายการสารคดีทางวิทยุเพื่อคุณภาพชีวิตของเยาวชน. กรุงเทพฯ : สารนิพนธ์ วารสารศาสตร์บัณฑิต. สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2023 วารสารนิเทศศาสตรปริทัศน์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.