กระบวนการสื่อสาร กลยุทธ์การสื่อสาร และประสิทธิผลของการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี

ผู้แต่ง

  • ธนพิสิฐ จรัสแสงจิระโชติ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  • พรพิมล สงกระสันต์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

คำสำคัญ:

กระบวนการสื่อสาร, กลยุทธ์การสื่อสาร, ประสิทธิผลของการสื่อสาร, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการสื่อสารและกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี (2) ศึกษาการรับรู้สื่อ การรับรู้ข่าวสาร และพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ของนักท่องเที่ยว (3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้สื่อ การรับรู้ข่าวสาร และพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ของนักท่องเที่ยว โดยแบ่งวิธีการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ศึกษากระบวนการสื่อสารและกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์และศึกษาจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 2 ศึกษาประสิทธิผลของการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี โดยวัดจากการรับรู้สื่อ การรับรู้ข่าวสาร และพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากนักท่องเที่ยว จำนวน 400 คน

 

        ผลการวิจัยในส่วนของกระบวนการสื่อสารและกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี พบว่า กระบวนการสื่อสาร ประกอบด้วย (1) ผู้ส่งสาร ได้แก่ บุคลากรของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ทั้งหัวหน้าอุทยานและเจ้าหน้าที่อุทยานทุกคน รวมถึงหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (2) สาร ได้แก่ เนื้อหาสารที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื้อหาสารที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื้อหาสารที่เชิญชวนให้มาท่องเที่ยวและโน้มน้าวใจให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเนื้อหาสารที่ให้ความบันเทิงจากการจัดกิจกรรม (3) สื่อ ได้แก่ สื่อมวลชน สื่อบุคคล สื่อใหม่ และสื่อเฉพาะกิจ โดยเน้นไปที่สื่อใหม่เป็นหลัก (4) ผู้รับสาร ได้แก่ กลุ่มหลักคือนักท่องเที่ยวทั่วไป และนักท่องเที่ยวที่มาแบบครอบครัว กลุ่มรองคือนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวที่มาในรูปแบบกลุ่มทัวร์ และกลยุทธ์การสื่อสาร ได้แก่ กลยุทธ์การชี้ให้เห็นถึงจุดเด่น กลยุทธ์การสร้างความรู้สึกรักและหวงแหน กลยุทธ์การใช้สื่อกิจกรรม และกลยุทธ์การใช้เครือข่ายการสื่อสาร

 

        ผลการวิจัยในส่วนของประสิทธิผลของการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี พบว่า (1) นักท่องเที่ยวมีการรับรู้สื่อเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อยู่ในระดับปานกลาง (2) นักท่องเที่ยวมีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อยู่ในระดับสูง (3) นักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อยู่ในระดับสูงมาก (4) การรับรู้สื่อมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการรับรู้ข่าวสาร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (5) การรับรู้สื่อมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (6) การรับรู้ข่าวสารมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001

References

กิติมา สุรสนธิ. (2545). ความรู้ทางการสื่อสาร. กรุงเทพมหานคร: คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เกศินี จุฑาวิจิตร. (2540). การสื่อสารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น. นครปฐม: ภาควิชาการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏนครปฐม.

ชวัลนุช อุทยาน. (2560). พฤติกรรมนักท่องเที่ยว. สืบค้นจาก https://touristbehaviour.wordpress.com.

บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา. (2542). การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปรมะ สตะเวทิน. (2540). หลักนิเทศศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิทูน มูลศรี. (2554). ความคิดเห็นเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวตามแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักอุทยานแห่งชาติ. (2563). น้ำตกพลิ้ว. สืบค้นจาก http://park.dnp.go.th.

Nancy Z. Schwartz. (1972). Educational Measurement and Evaluation. New York: McGraw – Hill Book Co.

Schramm. (1974). Nature of Communication between Humans. The Process and Effects of Mass Communication. Urbana III: University of Illinois Press.

Shirley Eber. (1992). Beyond the Green Harizon : Principe for sustainable tourism. Surrey: World Wide Fund for Nature (WWF).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-04-28