การตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
คำสำคัญ:
การตระหนักรู้, การมีส่วนร่วม, การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์, การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากลวิธีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 2) ศึกษาการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และ 3) สร้างแนวทางส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทันการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธีระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้แบบวิเคราะห์เนื้อหาสื่อออนไลน์เพื่อศึกษาแนวทางการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ และการวิจัยเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามเชิงสำรวจเพื่อศึกษาการกระหนักรู้และการมีส่วนร่วมกับการกลั่นแกล้งของกลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาบูรณาการร่วมกันเพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัย ผลการศึกษา พบว่า มีกลวิธีการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การยก “คำพูด” ของบุคคล 2) การสะท้อน “ภาพลักษณ์” ของบุคคล และ 3) การบรรยาย “สถานการณ์” จากความจริง การศึกษาการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเยาวชน พบว่า มีการตระหนักรู้ต่อผู้ส่งสารและผู้รับสารโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อย มีการตระหนักรู้ต่อเนื้อหาการกลั่นแกล้งโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับน้อย มีการตระหนักรู้ต่อช่องทางการสื่อสารอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างมาก และมีการระหนักรู้ต่อการปฏิกิริยาตอบกลับในรูปแบบที่แตกต่างกัน สำหรับแนวทางส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทันการกลั่นแกล้ง ผู้วิจัยได้สร้างโมเดลการรู้เท่าทันการกลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์ที่มีชื่อว่า “IC3” ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ 3 ส่วน ได้แก่ “I” (Identify) คือ “การระบุตัวตน” ของผู้ส่งสาร “C” (Construct) คือ “การประกอบสร้าง” เนื้อหาของผู้ส่งสาร และส่วนสุดท้ายคือ “3” คือ การวิเคราะห์กลวิธีการสื่อสารเพื่อการกลั่นแกล้ง 3 แบบ ได้แก่ “W” (Wording) หรือ การยกคำพูดของบุคคลมาบอกเล่าต่อในลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกลั่นแกล้ง “I” (Image) หรือ การสะท้อนภาพลักษณ์ของบุคคลในลักษณะที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกลั่นแกล้ง และ “S” (Situation) หรือ การบรรยายสถานการณ์ที่เลือกมานำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกลั่นแกล้ง
References
ถวิลวดี บุรีกุล. (2552). พลวัตการมีส่วนร่วมของประชาชน : จากอดีตจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งรชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.
ธนภัทร เต็มรัตนะกุล และรุ่งนภา พิตรปรีชา. (2553). การประมวลองค์ความรู้เรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีสื่อใหม่กับการประชาสัมพันธ์ จากเว็บไซต์ของ The Institute for Public Relations. วารสารการประชาสัมพันธ์และการโฆษณา, 3(4),หน้า, 123-146.
ประชาชาติธุรกิจ. เปิดวิจัย Cyberbullying เยาวชนไทยกับความเสี่ยงยุค 4.0-. https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-146845
มูลนิธิยุวพัฒน์. การกลั่นแกล้ง (Bullying) ความรุนแรงในสังคม. https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/bullying
วรทิพย์มีมาก และชีวินทร์ ฉายาชวลิต. (2547). หน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง.
อนันต์ วิวัฒนเดชา. (2560). ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ต่อความรุนแรงของการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Barber J. David. (1972). Citizen Politics. Chicago: Markham.
Knapp, M. and Daly, J. (2002). Handbook of Interpersonal Communication. California: Sage Publication, Inc.
McQuail, Denis. (2005). McQuail’s Mass Communication Theory 5th ed. London: SAGE Publications.
Milbrath, L. W. (1971). Political Participation. New York: University of Buffalo Press.
Nunnally, J. (1978). Psychometric Theory. New York: McGraw - Hill.