การเล่าเรื่องและการสื่อความหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่าแอมะซอนในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "The Territory"

ผู้แต่ง

  • พัฒนดล แสงคู่วงษ์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • กฤษณีกร เจริญกุศล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คำสำคัญ:

การเล่าเรื่อง, การสื่อความหมาย, ภาพยนตร์สารคดี, การบุกรุกป่า

บทคัดย่อ

        การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การเล่าเรื่อง และ 2) การสื่อความหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่าแอมะซอนในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Territory เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในการวิเคราะห์ตัวบทภาพยนตร์ด้วยการใช้ตารางบันทึกรายการ เป็นเครื่องมือที่ใช้บันทึกข้อมูลเพื่อการวิจัย

 

        ผลการศึกษาพบว่า การเล่าเรื่องของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Territory ประกอบด้วย 1) โครงเรื่องแบ่งตามลำดับเหตุการณ์แบบองค์แรก องค์สองและองค์สาม 2) แก่นความคิด ได้แก่ แก่นเรื่องอุดมการณ์  อำนาจ  หลักศีลธรรมในสังคมและการดำรงอยู่ร่วมกัน 3) ตัวละคร ได้แก่ การแบ่งตัวละครตามบทบาท คุณสมบัติ โครงเรื่อง การออกแบบตัวละครและการเชื่อมโยงบทบาทระหว่างตัวละคร 4) ความขัดแย้ง ได้แก่ ความขัดแย้งมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับสังคม และความขัดแย้งภายในตัวละคร 5) จุดยืนในการเล่าเรื่อง ได้แก่มุมมองของบุคคลที่หนึ่ง มุมมองที่เป็นกลางและมุมมองแบบรู้รอบด้าน 6) ฉาก ได้แก่ ฉากที่นำเสนอสถานที่และช่วงเวลา และ 7) สัญลักษณ์พิเศษ พบ 2 ลักษณะคือ (1) สัญลักษณ์พิเศษเชิงรูปธรรมผ่านองค์ประกอบภาพ แบ่งเป็น (ก) สัญลักษณ์ของฝ่ายผู้บุกรุก ได้แก่ รถไถ เลื่อยโซ่ยนต์ ถังน้ำมัน มอเตอร์ไซค์วิบาก ควัน ตอตะโก และแบบแปลงที่ดิน และ (ข) สัญลักษณ์ฝ่ายผู้พิทักษ์ ได้แก่ ไม้พาย ธนู หมวกขนนก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ถ่ายภาพ และ (2) สัญลักษณ์พิเศษเชิงนามธรรมผ่านสัญญะ ได้แก่ มดงาน ฝูงวัว ผีเสื้อ ใยแมงมุม นกแก้วมาคอว์ กบแก้ว และเสื้อผ้าสีเขียวเหลืองฟ้า

 

        การสื่อความหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่าแอมะซอนในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Territory ผลการวิจัยพบการสื่อความหมาย 3 ลักษณะ ประกอบไปด้วย 1) การสื่อความหมายด้วยภาพ ด้วยระยะภาพ การเคลื่อนกล้องและการตัดต่อภาพ 2) การสื่อความหมายด้วยเสียงที่มาจากธรรมชาติ สิ่งประดิษฐ์และการใช้เสียงบรรยาย และ 3) การสื่อความหมายด้วยสัญลักษณ์ 3 คู่ตรงข้าม ประกอบไปด้วย การเบียดเบียนและการอิงอาศัย, นโยบายและปรัมปราคติ, และอาวุธและเทคโนโลยี

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2544). ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา.กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โปรดักส์.

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม. (2542). การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย. กรุงเทพฯ.

จรัส ลีกาและคณะ.(2563). การวิเคราะห์คติความเชื่อในการอนุรักษ์ป่าชุมชนของคนอีสาน. วารสาร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, (6)1,133-149.

ฉลาดชาย สมิตานนท์. (2537). ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวเขาในประเทศไทย. ในเอกสารประกอบการสอนชุดความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย หน่วยที่ 9. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

ธนพล น้อยชูชื่น. (2554). ลักษณะของภาพยนตร์สารคดีที่แสดงอัตวิสัยของไมเคิล มัวร์. วารสารนิเทศศาสตร์. 30(4),102-119.

ภัสสร สังข์ศร. (2559). ความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการของภาพยนตร์กับบริบททางสังคม. วารสารเกษมบัณฑิต,17(2),116-127.

ศิริชัย ศิริกายะและกาญจนา แก้วเทพ. (2531). ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน. กรุงเทพฯ : ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Camilo Rocha, Juliana Koch and CNN's Jaide Garcia. (2021). Deforestation in the Amazon increased by 33% in first 10 months of 2021, analysis shows. https://edition.cnn.com/deforestation-increase-amazon-report-climate/index.html.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31