การเล่าเรื่องและการสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานของผู้กำกับอุเทน ศรีริวิในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน

ผู้แต่ง

  • เบญจา ศรีทองสุข วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • กฤษณีกร เจริญกุศล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คำสำคัญ:

การเล่าเรื่อง, การสะท้อนอัตลักษณ์, ความเป็นอีสาน, ภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน

บทคัดย่อ

    การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน และ 2) การสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานของกำกับอุเทน ศรีริวิในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เพื่อทำการศึกษาประเด็นด้านการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน และการสัมภาษณ์ (Interview) เพื่อทำการศึกษาการสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานของผู้กำกับอุเทน ศรีริวิในภาพยนตร์ ประกอบไปด้วย ผู้บ่าวไทบ้านอีสานอินดี้ (2557) อีสานนิวโอนซอง     ผู้บ่าวไทบ้านอีสานอินดี้ตอนหมานแอนด์เดอะคำผาน (2561) และผู้บ่าวไทบ้านอีสานจ๊วด (2564)

 

        ผลการศึกษาพบว่า การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้านทั้ง 4 ภาค มีองค์ประกอบของการเล่าเรื่องแบ่งตามโครงเรื่อง แก่นความคิด ความขัดแย้ง ตัวละคร ฉาก สัญลักษณ์พิเศษและมุมมองการเล่าเรื่องครบทุกองค์ประกอบ โดยภาพยนตร์มุ่งเน้นการนำเสนอแก่นความคิดและความขัดแย้งเป็นหลัก โดยแก่นแนวคิดที่พบในภาพยนตร์ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ แก่นความคิดเกี่ยวกับอีสานภิวัฒน์หรือการสะท้อนค่านิยมอีสานไกลบ้าน แนวคิดการแยกออกเป็นสองขั้ว แนวคิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของชนชั้นแรงงานและนายทุน และแนวคิดท้องถิ่นนิยมกับการโหยหาอดีต สำหรับประเด็นการนำเสนอรูปแบบความขัดแย้งที่พบในภาพยนตร์ผู้บ่าวไทบ้าน ประกอบไปด้วย ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคล เช่น ชนชั้นนายทุนและแรงงาน ความขัดแย้งภายในบุคคลที่สัมพันธ์กับบทบาทของตัวละคร เช่น ตัวละครบทเด่น ตัวเร่งและบทสนับสนุนและความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น พ่อกับลูกหรือแม่ผัวกับลูกเขย เป็นต้น องค์ประกอบการเล่าเรื่องผ่านสัญลักษณ์พิเศษ ประกอบไปด้วย (1) สัญลักษณ์ที่สะท้อนค่านิยมอีสานไกลบ้าน (2) การแยกเป็นสองขั้วและความมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน (3) กลุ่มชนชั้นนายทุนและแรงงาน และ (4) การท้องถิ่นนิยมและการโหยหาอดีต สำหรับการสัมภาษณ์คุณอุเทน ศรีริวิ พบว่าผู้กำกับต้องการสะท้อนอัตลักษณ์อีสาน ได้แก่ (1) การเป็นพื้นที่ต่อรองทางสังคมของผู้หญิงในชนบท (2) การปรับตัวของชาวอีสานไทบ้าน (3) ปัญหาช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงาน และ (4) ภาวะการโหยหาอดีตหรือการคิดถึงบ้านเกิดของกลุ่มอีสานผลัดถิ่น

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2544). ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรสโปรดักส์.

ณัฏฐธิดา จันเทร์มะ (2559). การสร้างอัตลักษณ์อีสานผ่านภาพยนตร์สั้นในเทศกาลภาพยนตร์อีสาน. [ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย].

พระพรหมวิสุทธิ์ ฉนฺทธมฺโมและคณะ (2561). ค่านิยมของผู้หญิงไทยชาวอีสานกับการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม. มนุษยสังคมสาร (มสส.). ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (2018): พฤษภาคม - สิงหาคม 2561 สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.

Burke, P. J., & Reitzes, D. C. (1991). An identity theory approach to commitment. Social psychology quarterly, P.239-251.

Stryker, S. (1991). Identity Theory in Encyclopedia of sociology. Edited by Borgatta, E. & Borgatta, M.L. P.871-876. New York : Macmillan.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-20