การสื่อสารความหมายไม้เรียวของครูในภาพยนตร์ไทย
คำสำคัญ:
การสื่อสารความหมาย, ครู, นักเรียน, ไม้เรียว, ภาพยนตร์ไทยบทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสื่อสารความหมายไม้เรียวของครูในภาพยนตร์ไทย” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยวิธีการศึกษาผ่านการวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารความหมายไม้เรียวของครูในภาพยนตร์ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การศึกษาโครงสร้างการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการใช้ไม้เรียวในสถานศึกษาและการศึกษาการประกอบสร้างสัญญะและความหมายของไม้เรียวของครูในภาพยนตร์ โดยแบ่งออกเป็นภาพยนตร์ยุคก่อนมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) สวัสดีคุณครู (2520) 2) ครูขา หนูเหงา (2521) 3) สวัสดีไม้เรียว (2525) 4) ครูเสือ (2527) 5) ครูไหวใจร้าย (2532) 6) ม.6/2 ห้องครูวารี (2537) และภาพยนตร์ยุคหลังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) สามชุก (2551) 2) สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก (2552) 3) วัยเป้ง นักเลงขาสั้น (2557) 4) คิดถึงวิทยา (2557) 5) ฟ.ฮีแลร์ (2558) 6) ฉลาดเกมส์โกง (2560)
ผลวิจัยพบว่าภาพยนตร์ในยุคก่อนมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการปี 2548 ได้ปลูกฝังความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ “เป็นคนดีได้ เพราะไม้เรียวครู” แก่ผู้ชม ให้ครูสามารถใช้อำนาจผ่าน “ไม้เรียว” ที่เป็นเครื่องมือพิทักษ์คุณธรรมที่ใช้ในนามของเจตนาที่ดี จากสูตรสำเร็จในการวางโครงเรื่องและบทบาทให้ครูเป็นตัวละครสำคัญที่เป็นผู้แก้ไขปมปัญหาหลักของนักเรียนในภาพยนตร์ ทำให้เกิดการยอมรับในตัวครูและยอมรับการใช้ไม้เรียวของครู
ส่วนภาพยนตร์ในยุคหลังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการปี 2548 บทบาทของไม้เรียวที่ปรากฏในภาพยนตร์ได้ลดน้อยลงมาก หรือภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูครูก็เป็นภาพของตัวละครครูที่สามารถช่วยเหลือนักเรียนให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการใช้ไม้เรียว ทำให้สังคมเริ่มเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นว่าครูที่ดีที่สามารถสั่งสอนนักเรียนให้เป็นคนดีได้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เรียว แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ยุคหลังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการปี 2548 ก็ยังคงสร้างความชอบธรรมให้กับไม้เรียว ด้วยการให้ตัวละครครูฝ่ายดีบางตัวยังคงเลือกใช้การลงโทษด้วยไม้เรียวอยู่ ทำให้อำนาจของไม้เรียวยังคงมีความชอบธรรมอยู่ในยุคปัจจุบันที่ถูกปรากฏให้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ (Tool of Power) ของครูฝ่ายดีเช่นเดียวกับในอดีต ซึ่งเป็นการส่งต่อชุดความคิดและอุดมการณ์ให้สังคมยอมรับระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนที่กระทำในนามของความหวังดีได้อย่างแนบเนียนผ่านสื่อภาพยนตร์
References
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. 2515. (2515,22 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132 ตอนพิเศษ 35 ง. หน้า 141-144.
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนนักศึกษา พ.ศ. 2548. (2548,26 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 122. หน้า 18-19.
ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี. (2499, 11 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 73 ตอนที่ 103. หน้า 3688
มติชน. (2563). ครูตีนักเรียนหลั่งน้ำตา’ หลังศิษย์เก่าให้กำลังใจโดนย้ายไปช่วยราชการสำนักงานเขต. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564. จาก https://www.matichon.co.th/local/crime/news_1896728
นิวส์ทีวี. (2563). ย้ายครูพละใช้ไม้เรียวฟาดเด็ก ศิษย์เก่าแห่ให้กำลังใจ. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2564. จาก https://www.newtv.co.th/news/47786
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2022 วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทุกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ