ความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสวัสดิภาพของนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

วิไลวรรณ ศรีคำมูล
พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย
จำรูญ พริกบุญจันทร์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสวัสดิภาพ
ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสวัสดิภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี จำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา 3) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสวัสดิภาพของนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ปกครองของนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี พ. ศ. 2556 จำนวน 291 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบง่าย และกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการเปิดตารางสำเร็จรูปของเครจซี่ (Krejcie) และมอร์แกน (Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.91 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test แบบindependent) และการทดสอบค่า (F-test (One -Way ANOVA)


ผลการวิจัยพบว่า


  1. ผู้ปกครองมีความคิดเห็นต่อการจัดสวัสดิภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านสนามเด็กเล่น รองลงมาได้แก่ ด้านโภชนาการ ด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ด้านสุขอนามัย

  2. ผู้ปกครองที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดสวัสดิภาพ โดยรวมไม่แตกต่างกัน แต่ที่มีอายุต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการจัดสวัสดิภาพ ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

  3. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดสวัสดิภาพของนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีรายละเอียดดังนี้ 1) ด้านอาคารสถานที่ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พบว่า โรงอาหารเก่า ชำรุด ทรุดโทรม ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ ดังนั้น ควรปรับปรุงโรงอาหารใหม่ให้ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะ 2) ด้านสนามเด็กเล่น พบว่า สนามเด็กเล่นเป็นพื้นดิน ไม่มีสนามหญ้า ดังนั้นควรปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เป็นสนามหญ้า เพื่อความปลอดภัยของเด็ก 3) ด้านโภชนาการ พบว่า โรงอาหาร ร้อน หลังคามุงด้วยสังกะสี ดังนั้น ควรปรับปรุงห้องอาหารใหม่ เป็นหลังคากระเบื้อง เพื่อกันความร้อน 4) ด้านสุขอนามัย พบว่า มีการตรวจสุขภาพฟันให้เด็กน้อยมาก ดังนั้น ควรจัดทันตแพทย์ในการให้บริการตรวจสุขภาพฟันของเด็ก อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

Article Details

บท
บทความวิจัย