การศึกษาลักษณะข้อบกพร่องในการเขียนภาษาไทยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีที่ 1 หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และสาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี

Main Article Content

เปรมปรีดิ์ โพธิ์ศรีทอง

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะข้อบกพร่องด้านการเขียนภาษาไทยของนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีที่ 1 หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และสาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรีปีที่ 1 หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา และสาขาวิชาดนตรีศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี จำนวน 41 คน ที่ลงทะเบียนรายวิชา 300-12001 ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) งานเขียนวิชาการที่นักศึกษาได้รับมอบหมายในรายวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร รวมทั้งสิ้น 246 ฉบับ 2) เครื่องหมายที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล และ 3) ผู้วิจัยกำหนดเกณฑ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแบ่งลักษณะข้อบกพร่องที่ตรวจพบ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ 


ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ลักษณะข้อบกพร่องในการเขียนภาษาไทย รวมทั้งสิ้น 651 ครั้ง ข้อบกพร่องในการเขียนภาษาไทยที่พบมากที่สุด คือ ข้อบกพร่องด้านอักขรวิธี จำนวน 516 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 79.26 รองลงมาคือ ข้อบกพร่องด้านการใช้ภาษา จำนวน 77 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.83 และข้อบกพร่องที่พบน้อยที่สุดคือ ข้อบกพร่องด้านการใช้คำ จำนวน 58 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 8.91 สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อบกพร่องในการเขียนภาษาไทย ในด้านอักขรวิธี นักศึกษาขาดความแม่นยำและขาดการคำนึงถึงหลักการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ตัวการันต์ที่ถูกต้อง ด้านการใช้คำ นักศึกษาไม่ทราบหลักการใช้ลักษณนามและอักษรย่อที่ถูกต้อง ขาดประสบการณ์ในการเลือกใช้คำให้สอดคล้องกับเนื้อความ และด้านการใช้ภาษา นักศึกษาไม่ทราบหลักการใช้ระดับภาษาที่ถูกต้อง ใช้คำมากเกินความจำเป็น หรือประโยคที่สื่อความหมายได้หลายอย่าง เขียนประโยคไม่จบความหรือขาดความ

Article Details

บท
บทความวิจัย