จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ (Publication Ethics)
วารสารนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

จริยธรรมของผู้เขียนบทความ (Duties of Authors)
     1. ผู้เขียนบทความต้องรับรองว่า บทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาขอรับการตีพิมพ์นั้น ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อนหรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น
     2. ผู้เขียนบทความต้องไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรือไม่ปลอมแปลงหรือสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ
     3. ผู้เขียนบทความต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานหรือข้อความใดๆของผู้อื่นมาใช้ในบทความ ต้องมีการอ้างอิงทุกครั้ง และต้องทำเอกสารอ้างอิงไว้ตอนท้ายของบทความ
     4. ผู้เขียนต้องระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของผลงานร่วมทุกคน ระบุบทบาทหน้าที่และสัดส่วนความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ในกรณีที่มีผู้เขียนหลายคน หรือหากมีบุคคลที่มิได้มีส่วนร่วมในการจัดทำบทความ จะไม่อนุญาตให้ใส่ชื่อผู้ที่มิได้มีส่วนร่วมดังกล่าวลงไปเด็ดขาด
     5. ผู้เขียนบทความต้องเขียนบทความให้ถูกต้อง ตามรูปแบบและหลักเกณฑ์การเสนอบทความ รวมทั้งการอ้างอิงที่กำหนดไว้ในวารสารอย่างเคร่งครัด
     6. ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัย, ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)
     7. หากบทความของผู้เขียนมีความเกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ ผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร หรือผลการวิจัยมีประเด็นที่เปราะบางต่อผู้ให้ข้อมูล ผู้เขียนบทความควรตรวจสอบว่า ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎหมาย ตามหลักจริยธรรม และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องได้รับความยินยอมก่อนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือในสัตว์ทดลองประกอบด้วยทุกครั้ง เป็นต้น
     8. ในกรณีตรวจพบ (แม้ในภายหลังที่ตีพิมพ์ไปแล้ว) ว่า มีการทำผิดจริยธรรมของผู้เขียนบทความ ในข้อ 1,2,3,4 วารสารจะตัดสิทธิ์การตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี และวารสารจะแจ้งหน่วยงานที่ผู้เขียนบทความสังกัดหรือผู้เขียนบทความ แล้วแต่กรณีต่อไป

จริยธรรมของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
     1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาด้านเนื้อหาบทความว่ามีความสอดคล้องกับเป้าหมายและขอบเขตของวารสาร
     2. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ทุกบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ หากตรวจพบความซ้ำซ้อนหรือพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนบทความทันที เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ ทั้งนี้ให้ถือเป็นสิทธิของบรรณาธิการสามารถถอนบทความได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนบทความ
     3. บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ เพียงเพราะเหตุจากความสงสัยหรือความรู้สึกส่วนตัว และต้องให้โอกาสแก่ผู้เขียนบทความ หาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้น ๆ เสียก่อน ต้องใช้หลักการพิจารณาบทความโดยอิงเหตุผลทางวิชาการ และต้องไม่มีอคติต่อผู้เขียนบทความและบทความที่พิจารณา ไม่ว่าด้วยกรณีใด อาทิ ด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้เขียนบทความ
     4. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
     5. บรรณาธิการต้องมีการกำกับดูแล การตีพิมพ์เผยแพร่บทความที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนเอง (บรรณาธิการหรือหัวหน้ากองบรรณาธิการ) อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ต้องไม่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ ผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
     6. บรรณาธิการมีหน้าที่ควบคุมดูแลและพิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และต้องคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์ หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร มุ่งเน้นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎีใหม่ได้จากประสบการณ์ การสังเคราะห์เอกสาร หรืองานวิจัย ในอันที่จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจไปสู่การวิจัยในหัวข้อวิชาการที่สำคัญ
     7. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด และต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัย
     8.บรรณาธิการ ต้องกำกับดูแล การเก็บค่าธรรมเนียมตีพิมพ์ (Page charge หรือ Processing fee) กล่าวคือ ต้องมีการดำเนินการที่ชัดเจนโปร่งใส เช่น มีการประกาศการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ ระบุราคาหรือเงื่อนไขของการเรียกเก็บค่า Page charge ตามที่ระบุได้ประกาศไว้

จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
     1. เมื่อได้รับบทความจากบรรณาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิฯตระหนักว่า ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ อาทิเช่น เป็นผู้ร่วมโครงการหรือดำเนินงานร่วม หรือรู้จักผู้เขียนบทความเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ทรงคุณวุฒิฯควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
     2. ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
     3. ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ควรระบุผลงานวิจัยหรือผลงานทางวิชาการที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้เขียนบทความมิได้อ้างถึง เข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ทรงคุณวุฒิฯต้องแจ้งหรือชี้แจงให้บรรณาธิการทราบด้วย
     4. ผู้ทรงคุณวุฒิฯต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาประเมินแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ตลอดจนไม่แสวงหาประโยชน์จากบทความที่ตนเองได้ทำการประเมิน
     5. ผู้ทรงคุณวุฒิฯต้องรักษาระยะเวลาการประเมินบทความตามกรอบเวลาประเมินที่วารสารกำหนด โดยมีข้อแนะนำเสนอแนะตลอดจนปรับปรุง ตามความคิดเห็นด้วยเหตุผลทางวิชาการของตนเองในแบบฟอร์มการประเมินหรือในเนื้อหาบทความ ด้วยความยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ (ถ้ามี)
หนังสือรับรองจริยธรรมวิจัยในมนุษย์
    กองบรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขอแจ้งว่า หากงานวิจัยของคณาจารย์ และนักวิจัย นักวิชาการตลอดจนนักศึกษา ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรรมการรับรองจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ หรือได้รับการยกเว้นการรับรองจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ ขอความร่วมมือให้ผู้เขียนบทความ ส่งหลักฐานดังกล่าวเพื่อกองบรรณาธิการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย โดยส่งเอกสารมาที่ E-mail: [email protected]