ภาพแทนชนบทไทยในเรื่องสั้นยุคพัฒนา พ.ศ.2493–2519

Main Article Content

กิติราช พงษ์เฉลียว

บทคัดย่อ

ชนบทไทยในเรื่องสั้นยุคพัฒนา พ.ศ.2493–2519 เป็นวรรณกรรมเรื่องสั้นที่นำเสนอภาพแทน(representation) ในช่วงนั้นได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลผู้ศึกษาเรื่องสั้นในยุคนั้นพบมีการศึกษาเรื่องสั้น เช่น เลิศชาย ศิริชัย ได้ศึกษา ความแปลกแยกในเรื่องสั้นไทย (พ.ศ.2507 - 2519) พบความแปลกแยกทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ที่ประชาชนต้องทำงานทุกข์ยาก ไม่ค่อยมีทางเลือก ผลผลิตที่ประชาชนผลิตได้ถูกควบคุมโดยนายทุน อำนาจรัฐ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ กลับมาควบคุมประชาชนให้ตกอยู่ภายใต้เครื่องพันธนาการของสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ และแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิต่างๆที่ควรได้รับ ส่วนนันทวัลย์ สุทรภาระสถิต ( 2547 ) ได้ศึกษา เรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 พบว่าองค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แสดงให้เห็นการผสมผสานลักษณะสำคัญของงานเขียนประเภทเรื่องสั้นและบันทึกเข้าด้วยกัน ในด้านกลวิธี ผู้วิจัยได้ใช้ทฤษฎีศาสตร์แห่งเรื่องเล่าเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ พบว่า ผู้เล่าเรื่องชั้นในแบบสัมพันธ์เป็นกลวิธีที่ใช้มากที่สุด มุมมองที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องราวจะเป็นมุมมองภายในของตัวละครที่อยู่ฝ่ายนิสิตนักศึกษา การรับรู้ของผู้อ่านจึงถูกจำกัด ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องสั้น  นอกจากนี้ยังมีบทบาทในด้านประวัติศาสตร์และการเมือง โดยเรื่องสั้นมีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการสร้างตัวตนของนิสิตนักศึกษาผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาใน 2 ลักษณะ คือ ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกทำร้ายและวีรชนผู้เสียสละของชาติ ตัวตนทั้งสองนี้ส่งผลให้เรื่องสั้นมีบทบาทในการวิพากษ์การกระทำของรัฐและเรียกร้องความเป็นธรรม และบทบาทในการเรียกร้องและตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ เจด็จ  คชฤทธิ์ (2548) ได้ศึกษากระบวนทัศน์ความยากจน : ภาพสะท้อนที่ปรากฏในเรื่องสั้นไทยร่วมสมัย (พ.ศ.2501 - 2545) ปรากฏภาพสะท้อนลักษณะของ ความยากจน 4 มิติ คือ จนทรัพย์สิน จนโอกาส จนอำนาจ และจนศักดิ์ศรี สาเหตุของความยากจนเกิดจาก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม การขาดแคลนปัจจัยการผลิต และการประสบภัยแล้งและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนผลกระทบของความอยากจนส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ปัญหาความขัดแย้งและช่องว่างทางชนชั้น ปัญหาด้อยการศึกษาและอุปสรรคในการแสวงหาความรู้ ปัญหาการอพยพเร่ร่อนย้ายถิ่นฐาน ปัญหาการค้าประเวณีหรือการขายบริการทางเพศและปัญหาหนี้สิน  ส่วนการศึกษาเรื่องสั้นแนวชนบทที่น่าสนใจพบในงานวิจารณ์“ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” ใน อ่านใหม่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ (2558) เป็นการศึกษาชนบทอีสาน โดยตั้งคำถามให้ชวนสงสัยว่า ทำไม คนจนอีสานจึงไม่มีที่อยู่ในจักรวาลวิทยาของ “คุณธรรม จริยธรรมอันสูงส่ง”ของอภิสิทธิ์ชนและอภิชนคนเมืองที่ครองบ้านเมืองอยู่ทุกวันนี้ ทำไม ฟ้าบ่กั้น ที่มีเจตนาเรียกขานมโนธรรมจากอภิสิทธิชนและอภิชนให้เห็นใจคนยากคนจนในชนบทโดยเฉพาะอีสาน วรรณกรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ผลิตซ้ำอัตลักษณ์และวาทกรรม“โง่ จน เจ็บ”  


          ตัวบทเรื่องสั้นทั้ง 49 เรื่อง ถือว่ามีความน่าสนใจในฐานะที่วรรณกรรมเสนอภาพแทนของสังคม แต่ละเรื่องเขียนในปีที่ต่างกัน ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษของการพัฒนาประเทศ  ซึ่งปรากฏภาพแทนของสังคมชนบทที่น่าสนใจ ยิ่งถ้ามองในชุดความคิดที่ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เป็นการนำเสนอชุดความจริงชุดหนึ่งที่เป็นชุดความจริงกระแสหลักภายใต้ชุดวาทกรรมบางชุดทั้งที่ผู้เขียนรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว  ดังนั้นงานวรรณกรรมรวมทั้งงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นเหมือนคู่ขนานหรือภาพแทนชุดความจริงกระแสรองที่เสนอภาพหรือข้อมูลอีกด้านที่ถูกชุดความจริงกระแสหลักขับเบียดแย่งชิงพื้นที่ความน่าเชื่อถือของการบันทึกเรื่องราวทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ร่วมยุคสมัยนั้น งานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นจึงเป็นเหมือนบันทึกอีกด้านที่สามารถใช้ตรวจสอบชุดความรู้ของประวัติศาสตร์นิพนธ์ หรือพอที่จะสะท้อนให้เห็นชุดความคิดกระแสรองที่เกิดขึ้นบ้างหรือไม่  ดังประเด็นที่น่าสนใจที่ปรากฏในเรื่องสั้นชนบทไทยยุคพัฒนา พ.ศ. 2493 - 2519

Article Details

บท
Academic Article

References

คายส์, ชาร์ลส์ เอฟ. แนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย. รัตนา โตสกุล, แปล. อุบลราชธานี :
ศูนย์วิจัยอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง, คณะศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2552.
เจด็จ คชฤทธิ์. กระบวนทัศน์ความยากจน : ภาพสะท้อนที่ปรากฏในเรื่องสั้นไทยร่วมสมัย (พ.ศ. 2501 – 2545) ปริญญานิพนธ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ. 2549.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สร้างสรรค์ จำกัด, 2557.
ชาตรี เพ็ญศรี. วาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทย : พ.ศ. 2504 – 2539. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ปรีดีพนมยงค์และ 4 รัฐมนตรีอีสาน 1. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำรา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์, 2544.
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. อ่านใหม่เมืองกับชนบทในในวรรณกรรมไทย. กรุงเทพมหานคร: อ่าน, 2558.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. ความคิดทางการเมืองของ ฌาคส์ ร็องซิแยร์. กรุงเทพมหานคร: สมมติ, 2553.
ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “ลักษณะลาว” ใน นานาทัศนะท้องถิ่นอีสาน. นนทบุรี: คณะมนุษยศาสตร์และ
สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2559.
ธงชัย วินิจจะกูล. ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์: เมื่อชนชั้นนําสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหา สถานะของตนเอง ผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (2546) หน้า 1-66.
นพพร ประชากุล. ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 ว่าด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
กรุงเทพมหานคร: เคล็ดไทย, 2552.
นันทวัลย์ สุทรภาระสถิต. เรื่องสั้นบันทึกเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2547.
พัฒนา กิติอาสา. สู่วิถีอีสานใหม่. กรุงเทพมหานคร : เคล็ดไทย, 2557.
เลิศชาย ศิริชัย. ความแปลกแยกในเรื่องสั้นไทย (พ.ศ. 2507 - 2519). ปริญญานิพนธ์ ศิลปะ ศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 2549.
อมรา พงศาพิชญ์. ความหลากหลายทางวัฒนธรรมกระบวนทัศน์และบทบาทในประชาสังคม. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
อุศนา นาศรีเคน. อีสานในการรับรู้และทัศนะของผู้ปกครองกรุงเทพมหานครตั้งแต่หลังกบฏเจ้า
อนุวงศ์ พ.ศ. 2369 ถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548.
ฮร๊อน สเตอร์ลอกดอตตีร์ . สำนึกเรื่องถิ่นฐานในนวนิยายเรื่องลูกอีสานของคำพูน บุญทวี.
วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2553.
Stuart Hall. “The Work of Representation” . In Representation : Cultural Representations and Signifying Practices. Ed. By Stuart Hall. London :
Sage, 1997.
_______. “Cultural identity and disaspora” in Identity and Difference. Ed By Kathayn
Woodward. London : sage Publication and Open University. 2002.