โรงเรียนผู้สูงอายุ : หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

Main Article Content

มงคลกิตติ์ โวหารเสาวภาคย์

บทคัดย่อ

โรงเรียนผู้สูงอายุ : หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

School Elderly : Curriculum and Management.


มงคลกิตติ์ โวหารเสาวภาคย์, เสาวนีย์ ไชยกุล*


บทคัดย่อ


บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2) ศึกษาการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ และ 3) วิเคราะห์รูปแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยโดยใช้วิธีวิทยาวิจัยแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่มเฉพาะกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 90 รูป/คน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรรมการบริหารโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 10 รูป/คน อาจารย์ผู้สอน/นักเรียนผู้สูงอายุ จำนวน 80 คน และงานวิจัยเอกสาร


          ผลการวิจัย พบว่า


  1. หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ

    1.1 องค์ประกอบหลักสูตร  (1) มีการกำหนดเป้าหมายและนโยบายการจัดการศึกษาที่ชัดเจน เป็นไปตามความต้องการของประชาคมของตำบลนั้นๆ (2) กำหนดกรอบความคิดในการออกแบบหลักสูตร โดยกำหนดหลักสูตรออกเป็น ปีที่ 1 หลักสูตรชั้นต้น มุ่งสู่เป้าหมายที่ “รู้จริง” ปีที่ 2 หลักสูตรชั้นกลาง มุ่งสู่เป้าหมาย “รู้จริง ปฏิบัติได้ และ ปีที่ 3 หลักสูตรชั้นสูง เพื่อมุ่งเป้าหมาย “รู้จริง ปฏิบัติได้ ถ่ายทอดเป็น” (3) การกำหนดรูปแบบและโครงสร้างหลักสูตรขึ้นอยู่กับการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตรแต่ละแห่ง (4) จุดประสงค์ของรายวิชา ยืดหยุ่นไปตามอาจารย์ผู้สอนหรือวิทยากรบรรยาย (5) การประเมินผล สังเกตจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และ (6) วัสดุหลักสูตรและสื่อการสอน ได้รับการสนับสนุนจาก วัด องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และส่วนงานอื่นๆ


              1.2 การพัฒนาหลักสูตร (1) การสร้างหลักสูตร มีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน คือ ความต้องการ ความจำเป็น และปัญหาทางสังคม ตลอดจนนโยบายทางภาครัฐ และ (2) การใช้หลักสูตร มีการร่วมมือของภาคีเครือข่าย อาทิ วัด องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โรงเรียนในเขตชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในรายวิชา


              1.3 การประเมินหลักสูตร (1) สิ่งที่มีอยู่ก่อน มีการสร้างหลักสูตรขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมผู้สูงอายุ ด้วยการรวมตัวของภาคีเครือข่าย วัด ชุมชน โรงเรียน องค์กรต่างๆ (2) กระบวนการสอน มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างครูกับผู้สูงอายุ และ (3) ผลที่ได้รับ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น


  1. การจัดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ (1) หลักการจัดการเรียนการสอน มีหลักการจัดการเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (2) ทฤษฏีการจัดการเรียนการสอน รายวิชามีความยืดหยุ่นโดยเน้นการมีส่วนร่วม ซึ่งตรงกับหลักทฤษฏีการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (3) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง (4) อาจารย์ผู้สอน มีความสามารถอธิบายรายวิชาที่รับผิดชอบด้วยสื่อและภาษาที่เข้าใจง่าย และ (5) การประเมินการจัดการเรียนการสอน ประเมินจากความสนใจ พฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออก การค้นคว้า และการทำบททดสอบ

  2. รูปแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ

              3.1 รูปแบบหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ (1) ภาวิตภาวบุคคล : ด้านสุขภาวะทางกาย เน้นการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสริมร่างกายให้มีสุขภาวะ (2) ภาวิตจิตบุคคล : ด้านสุขภาวะทางจิตใจ เน้นการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสริมจิตใจให้มีสุข (3) ภาวิตสีลบุคคล : ด้านสุขภาวะทางสังคม เน้นการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสริมสังคมให้มีสุขภาวะ และ (4) ภาวิตปัญญาบุคล : ด้านสุขภาวะทางปัญญา เน้นการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสริมปัญญาให้มีสุขภาวะ


      3.2 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนผู้สูงอายุในการจัดการสุขภาวะและสวัสดิการผู้สูงอายุ (1) กายภาวนา : พัฒนากาย การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การมีบทบาทหรือส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทางกาย (2) จิตภาวนา : พัฒนาจิตใจ การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ สามารถนำตนเองสู่การเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การเสริมสร้างความรู้ ความคิดความเข้าใจ การรู้จริง เพื่อพัฒนาทางจิตใจ (3) สีลภาวนา : พัฒนาสังคม กระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม การปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้สูงอายุ การทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาทางสังคม และ (4) ปัญญาภาวนา : พัฒนาปัญญา มีการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของชุมชน มีการใช้สื่อธรรมชาติและสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อพัฒนาปัญญา


คำสำคัญ:   โรงเรียนผู้สูงอายุ, หลักสูตร, การจัดการเรียนการสอน, การจัดการสุขภาวะและ     สวัสดิการ,ผู้สูงอายุ


 


 


* สาขาวิชาสังคมศึกษา ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

Article Details

บท
Research Articles

References

รายงานวิจัย