การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครอง ส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1.เพื่อศึกษามาตรการ กลไก การบริหารจัดการน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ 2. เพื่อศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ และ 3. วิเคราะห์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ ผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (in-depth interview) สัมภาษณ์ผู้รู้หรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant interview) ประชากร หรือกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง (Purposive Selection) ซึ่งสามารถสรุปผลของการวิจัยตามข้อค้นพบได้ดังต่อไปนี้
ผลการวิจัยพบว่า
ข้อมูลพื้นฐานของลำน้ำตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแนวเทือกเขามีลำน้ำและห้วยที่น้ำจากเทือกเขาพนมดงรักระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา ติดกับอำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ และ อำเภอภูสิงห์ ซึ่งจะไหลหลากลงมาตามลำห้วย ร่องน้ำธรรมชาติผ่านฝายน้ำล้นและไหลลงในอ่างเก็บน้ำ ที่ มีลำห้วยและอ่างเก็บน้ำจำนวน 12 แห่ง สภาพโดยทั่วไป เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง กักเก็บน้ำได้ตลอดปี ในช่วงฤดูหนาวจะมีนกเป็ดน้ำมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จากอ่างเก็บน้ำจะมองเห็นเทือกเขาพนมดงรัก ด้านหลังจะเป็นพลาญหินที่มีโขดหินขนาดเล็ก-ใหญ่ เรียงรายอยู่ตลอดแนว และบนพลาญหินยังมีร่องหินทราย ที่ถูกกัดกร่อนด้วยธรรมชาติ
มาตรการ กลไก การบริหารจัดการน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ จะใช้การบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน คือ 1. การกำหนดนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสังคม 2. สร้างความรับผิด (Accountability) และความโปร่งใสตรวจสอบได้ และ3. สร้างเสริมกลไกการจัดการน้ำแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและการมอบอำนาจสู่ระดับพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก ให้ทำการรณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ผู้ใช้น้ำในระดับพื้นที่ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำ จัดทำประเด็นและสังเคราะห์วาระสำคัญเพื่อบรรจุไว้ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำภาคประชาชนเพื่อให้มีกฎหมายการบริหารจัดการน้ำที่แก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม
ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรัก จะมีวิธีการหรือกิจกรรมดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำ การจัดสรรน้ำ การป้องกัน และแก้ไขภัยธรรมชาติด้านน้ำ และการป้องกัน แก้ไขมลพิษทางน้ำ เพื่อให้สามารถใช้น้ำให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุดสมเหตุสมผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยใช้กระบวนการในการจัดหาน้ำ จัดสรร อนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ อย่างยั่งยืน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในทุกพื้นที่
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ จะพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์ ในสองส่วน ดังนี้ 1. การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างผสมผสาน และ2. สนับสนุนการอนุรักษ์ และคุ้มครองคุณภาพน้ำ โดยตระหนักถึงคุณค่าของปริมาณน้ำ และ3. การแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ โดยนำเอาระบบการวางแผน ติดตาม ประเมินผลและการวิจัยมาใช้ น้ำเอาระบบข้อมูลทุกด้านมาประกอบการตัดสินใจ
วิเคราะห์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเทือกเขาพนมดงรักขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดศรีสะเกษ ตามหลักจัดการทรัพยากรน้ำแบ่งออกได้ 4 ประการ 1. การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการจัดการน้ำ 2. การจัดสรรน้ำให้มีประสิทธิภาพ 3. การอนุรักษ์แหล่งน้ำในลุ่มน้ำ 4. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 4.1 การขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง 4.2 จัดสรรและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม 4.3 อนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรน้ำ และแหล่งน้ำ ด้วยการดูแลรักษาฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร ทรัพยากรน้ำ อย่างบูรณาการบนฐานของหน่วยทางนิเวศกายภาพและหน่วยทางสังคมที่มีขอบเขตชัดเจน
Article Details
References
จันทรานี สงวนนาม, (2536). เอกสารประกอบการสอนบรรยายหลักสูตรผู้บริหารสถานศึกษาระดับสูง, กรุงเทพมหานครเทพมหานคร : ม.ท.ป..
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และคณะ, (2544). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ “แนวนโยบายการจัดการน้ำสำหรับประเทศไทย” เล่ม 1, ม.ป.ท. : ม.ป.พ..
ประเวศ วะสี, (2549). กระบวนการนโยบายสาธารณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ,
พะยอม วงศ์สารศรี. (2552). องค์การและการจัดการ. กรุงเทพมหานครเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
วิจารณ์ พานิช, (2544). ธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของประชาชน และกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม.กรุงเทพฯ: สายธาร.
สุรัสวดี ราชกุลชัย. (2547). การวางแผนและการควบคุมทางการบริหาร. กรุงเทพมหานครเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, (2545). การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยและแนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสาน, ม.ป.ท.: ม.ป.พ..