การศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมในการบูชาพระธาตุภูศรีของชาวหลวงพระบาง
คำสำคัญ:
ความเชื่อ, พิธีกรรม, พระธาตุภูศรีบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาการบูชาพระธาตุในพระพุทธศาสนา 2) ศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมในการบูชาพระธาตุภูศรีของชาวหลวงพระบาง และ 3) ศึกษาคุณค่าของความเชื่อและพิธีกรรมในการบูชาพระธาตุภูศรีที่มีต่อชาวหลวงพระบาง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบสังเกต กลุ่มผู้ใหข้อมูลหลักได้แก่ พระภิกษุจำนวน 6 รูป นักวิชาการ จำนวน 4 คน และบุคคลทั่วไป จำนวน 5 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 15 รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยระเบียบวิธีวิจัย แล้วนำเสนอผลการวิจัย ด้วยการพรรณนาเชิงวิเคราะห์ตามหลักอุปนัย
ผลการวิจัยพบว่า
1. การบูชาพระธาตุในทางพระพุทธศาสนามี 2 อย่าง ได้แก่ 1) อามิสบูชา การบูชาด้วยอามิส 2) ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม ชาวหลวงพระบางมีความเชื่อว่าพระธาตุภูศรีมีเทพารักษ์อาศัยอยู่ ช่วยปกป้องพวกเขาให้พ้นภัยอันตราย จึงเป็นเหตุให้ชาวหลวงพระบางได้ทำและจัดเครื่องบูชาพระธาตุภูศรีเรียกชื่อว่า บุญมหาชาติก้อมพระธาตุจอมศรี โดยมีการเตรียมพาขันธ์สวดเครื่องร้อยของพันธ์ นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนาในเรื่องมหาชาติชาดก และถวายแด่พระสงฆ์
2. การบูชาพระธาตุภูศรีมีผลเป็นคุณค่าแก่ชีวิตของชาวหลวงพระบางใน 5 ด้านได้แก่ ด้านจิตใจ คือ ชาวหลวงพระบางมีความสุขสบายใจที่ได้ทำบุญในการบูชาพระธาตุภูศรี ด้านครอบครัว คือ ทำให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ด้านสังคม คือ ทำให้เกิดความสามัคคีในกิจกรรมของชุมชน ด้านเศรษฐกิจ คือ การบูชาพระธาตุภูศรีช่วยทำให้คนทั้งหลายเดินทางมาศึกษาเรียนรู้ เข้าร่วมประกอบพิธีกรรม ซึ่งก่อให้เกิดรายได้แก่คนในชุมชน และด้านพระพุทธศาสนา คือ พุทธธรรมได้รับการศึกษาเรียนรู้ สืบสานและเผยแผ่ผ่านการประกอบพิธีกรรมการบูชาพระธาตุภูศรี