การวิเคราะห์ประเพณีบุญเดือนสิบในเชิงปรัชญาของชาวบ้านเดื่อ ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

Main Article Content

พระอธิการภัคพงศ์ สิริธมฺโม (พรหมศิริพงศ์)
จรัส ลีกา
สุวิน ทองปั้น
อุทัย กมลศิลป์
สุรพันธ์ สุวรรณศรี

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการประกอบประเพณีบุญเดือนสิบ 2) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีทางปรัชญา 3) ศึกษาวิเคราะห์ประเพณีบุญเดือนสิบของชุมชนบ้านเดื่อ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บรวบรวมจากเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 25 รูป/คน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนาตามหลักอุปนัยวิธี
ผลการวิจัยพบว่า
1. แนวคิดเกี่ยวกับประเพณีบุญเดือนสิบ มีแนวคิดสำคัญ 2 ประการคือ 1) แนวคิดเรื่องเปรตพลีเป็นการทำบุญอุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีบุพพการีชน 2) แนวคิดในการทำประโยชน์เพื่อตนเอง ตามหลักพุทธจริยศาสตร์ 3 ประการคือ 1) การไม่ทำบาป 2) การทำกุศลให้ถึงพร้อม และ 3) การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์
2. แนวคิดทางปรัชญาเป็นสิ่งที่มีเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในการให้คำตอบเชิงเหตุผลต่อคำถามที่ว่า คนเรามาจากไหน ตายแล้วไปไหน วิญญาณหลังจากตายมีหรือไม่ ทฤษฎีปรัชญา แบ่งเป็น 2 แบบคือ 1) ปรัชญาบริสุทธิ์ และ 2) ปรัชญาประยุกต์ ที่นำปรัชญาบริสุทธิ์ไปประยุกต์เข้ากับเนื้อหาของศาสตร์สาขาต่างๆ
3. การวิเคราะห์ประเพณีบุญเดือนสิบด้วยทฤษฎีอภิปรัชญา พบว่า บุญเดือนสิบมีแนวคิดอภิปรัชญาที่เชื่อมโยงถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างภาวะ และอภาวะ 1) ความเชื่อเรื่องเทพผู้มีอำนาจสูงสุด 2) ความเชื่อเรื่องเปรตภูมิ 3) ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิเคราะห์ด้วยทฤษฎีญาณวิทยา พบว่า ความรู้ถูกเก็บในลักษณะที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านลูกถ่ายทอดโดยปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีพุทธจริยศาสตร์ พบว่า บุญเดือนสิบมีผลดีต่อการดำเนินชีวิตของในชุมชนให้มีความสงบสุขเรียบง่าย เป็นสังคมแห่งการพึ่งพาที่ยึดหลักสังคหวัตถุ 4 เป็นแนวปฏิบัติ

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)