การพัฒนาเครือข่ายการจัดการศึกษาคณะสงฆ์ เพื่อรองรับการพัฒนาสังคมไทยในศตวรรษที่ 21

Main Article Content

ปัญญา คล้ายเดช
ปชาบดี แย้มสุนทร
นิรัช เรืองแสน
อำพล บุดดาสาร
ศุภกาญจน์ วิชานาติ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเครือข่ายการจัดการศึกษาคณะสงฆ์เพื่อรองรับพัฒนาสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งในเชิงเอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก สนทนากลุ่มย่อย และสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้บริหาร ครู ผู้เรียน ในสำนักเรียนพระปริยัติธรรมและมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในเขตจังหวัดขอนแก่น จำนวน 35 รูป  วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอรรถาธิบายและพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่า
1. เครือข่ายการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ มี 5 รูปแบบ คือ 1) การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 2) การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม 3) การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี 4) การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ และ 5) การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีความสอดคล้องเกื้อกูลกันและกัน คณะสงฆ์และประชาชนให้ความสำคัญ และมีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นหน่วยรองรับผู้เรียนจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้ง 3 แผนก มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อรักษาและจรรโลงไว้ซึ่งการศึกษาและการค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา
2. มีการพัฒนาเครือข่ายการจัดการศึกษาคณะสงฆ์ โดยมีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารกิจการคณะสงฆ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้ “วัด”เป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาใน 3 แผนก ส่งต่อไปถึงการจัดการศึกษาระดับสูง และมีการจัดตั้งสถาบันอมรมด้านวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้เรียน พร้อมกับสร้างพื้นที่การทำงานให้กับผู้เรียนภายหลังสำเร็จการศึกษา
3. เครือข่ายการจัดการศึกษาคณะสงฆ์ มีคณะสงฆ์เป็นแกนนำในการจัดการศึกษาภายใต้รูปแบบหลักสูตรและการบูรณาการร่วมกับศาสตร์สมัยใหม่ วัดและสำนักปฏิบัติธรรมเป็นเครือข่ายสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ โดยส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาบวชเรียนและได้ร่วมปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คณะสงฆ์มีศักยภาพในการรักษาและพัฒนาทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ จัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้มีการพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคม

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research Article)

References

คนึงนิตย์ จันทบุตร. (2532). สถานะและบทบาทพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: หจก. ภาพการพิมพ์.

_______. (2543). แนวคิดทิศทางการศึกษาคณะสงฆ์ไทย. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: ศูนย์พุทธศาสตร์ศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2556). พุทธปรัชญาการศึกษา. พระนครศรีอยุธยา: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

อดุลย์ วังศรีคูณ. (2557). การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21: ผลผลิตและแนวทางการพัฒนา. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, 8(1), 1-17.

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน). (2547). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2542, แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน).