จริยธรรมการตีพิมพ์

วารสารดนตรีรังสิต (RMJ) มุ่งมั่นรักษามาตรฐานสูงสุดด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ โดยปฏิบัติตามหลักการและแนวทางของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (COPE) ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ บรรณาธิการ และกองบรรณาธิการ ต้องปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมที่กำหนดเพื่อรักษาความซื่อตรง โปร่งใส และเป็นธรรม ในกระบวนการตีพิมพ์

หลักจริยธรรมในการตีพิมพ์

วารสารยึดมั่นในหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้:

          1. การเป็นเจ้าของผลงานและความเป็นต้นฉบับ

  • บทความที่ส่งต้องเป็นผลงานต้นฉบับ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  • ห้ามลอกเลียนผลงาน หรือใช้เนื้อหาของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้เขียนต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้องและให้เครดิตแก่เจ้าของผลงาน 
  • ผลงานที่ส่งต้องมีสาระสำคัญที่เป็นการค้นพบหรือสร้างสรรค์ใหม่ในสาขาดนตรี

          2. กระบวนการประเมินบทความ

  • ทุกบทความต้องผ่านการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งต่างก็ไม่ทราบว่าผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียนคือใคร (Double-Blind Peer Review) เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและยุติธรรม
  • ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะที่เป็นกลาง สร้างสรรค์ และส่งคืนตามกำหนดเวลา โดยรักษาความลับของบทความ
  • ผู้เขียนต้องปรับปรุงบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมินบทความ และให้เหตุผลชี้แจงในกรณีที่มีข้อโต้แย้ง

          3. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  • ทุกฝ่ายต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจทางวิชาการ
  • ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุน หรือหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยที่อาจมีผลต่อความเป็นกลางของผลงาน
  • ผู้ประเมินบทความและบรรณาธิการต้องงดเว้นจากการพิจารณาบทความที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

          4. หลักเกณฑ์การเป็นผู้เขียน

  • รายชื่อผู้เขียนต้องเป็นบุคคลที่มีส่วนร่วมสำคัญ ในการวิจัย การเขียน หรือการออกแบบการวิจัย
  • ผู้เขียนต้องเห็นชอบลำดับรายชื่อร่วมกันก่อนส่งต้นฉบับ และลงนามยืนยันการเป็นเจ้าของบทความ
  • หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้เขียนหลังส่งต้นฉบับ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนทุกคนและผ่านการพิจารณาของกองบรรณาธิการ

          5. ความถูกต้องของข้อมูลและการทำผลการวิจัยซ้ำ

  • ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และปราศจากการปลอมแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล
  • ข้อมูลการวิจัยต้องสามารถตรวจสอบได้ และควรเปิดเผยตามคำร้องขอเพื่อให้ผู้อื่นสามารถทำผลการศึกษาซ้ำได้
  • ผู้เขียนควรเก็บรักษาข้อมูลดิบและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี หลังการตีพิมพ์

จริยธรรมการเผยแพร่ผลงานและกระบวนการตรวจสอบ

วารสารดนตรีรังสิตยึดมั่นมาตรฐานจริยธรรมในผลงานทางวิชาการทุกประเภท และให้ความสำคัญกับการละเมิดจริยธรรมการเผยแพร่อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนผลงาน การส่งบทความซ้ำซ้อน การปลอมแปลงข้อมูล การทุจริตเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของผลงาน และแนวปฏิบัติในการวิจัยที่ไม่เหมาะสม วารสารดนตรีรังสิตมีขั้นตอนการตรวจสอบและแนวทางปฏิบัติตามข้อร้องเรียนผ่านคณะกรรมการจริยธรรมการเผยแพร่ (Committee on Publication Ethics - COPE) เพื่อรักษาจริยธรรมการเผยแพร่ผลงานทางวิขาการของวารสาร

กระบวนการตรวจสอบ

หากมีข้อสงสัยหรือข้อร้องเรียนการกระทำผิดด้านจริยธรรม วารสารดนตรีรังสิตจะดำเนินการตรวจสอบด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมผ่านขั้นตอนและกระบวนการดังนี้ 

          1. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ : คณะกรรมการมีความอิสระและเป็นกลางโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

          2. การประเมินและตรวจสอบหลักฐานเบื้องต้น : คณะกรรมการตรวจสอบและพิสูจน์การลอกเลียน และวิเคราะห์เนื้อหาที่ต้องสงสัย โดยประเมินอย่างละเอียด ซึ่งสามารถนำซอฟต์แวร์ตรวจจับการซ้ำซ้อนมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณา

          3. การตรวจสอบหลักฐาน : คณะกรรมการพิจารณาหลักฐานทั้งหมดอย่างรอบด้านเพื่อตรวจสอบขอบเขตการละเมิดจริยธรรม

          4. ผู้เขียนให้คำชี้แจง : ผู้เขียนได้รับโอกาสในการอธิบายพร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงข้อสงสัย

          5. การรักษาความลับและความเป็นธรรม : การตรวจสอบทั้งหมดดำเนินการภายใต้การรักษาความลับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

          6. ผลการพิจารณาและมาตรการดำเนินการ : หากพบว่ามีการละเมิดจริยธรรม วารสารดนตรีรังสิตจะดำเนินการตามแนวทางของ COPE ดังนี้

  • ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความหรือเพิกถอนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว
  • ดำเนินการตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการ
  • แจ้งผลการพิจารณาให้ต้นสังกัดของผู้เขียนหรือผู้ให้ทุนทราบ
  • กำหนดช่วงเวลาการระงับหรือการส่งผลงาน

          7. ข้อสรุปผลการสอบสวน : หากไม่พบการกระทำผิด วารสารดนตรีรังสิตจะแจ้งผลการสอบสวนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ

ผลกระทบจากการละเมิดจริยธรรม

วารสารดนตรีรังสิตขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรักษาความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของวารสาร ผู้เขียนที่ส่งบทความมายังวารสารดนตรีรังสิตได้รับทราบและยินยอมที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมข้างต้น และหากมีการละเมิดจะถูกดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสม วารสารจะติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมตั้งแต่ขั้นตอนการส่งบทความจนถึงกระบวนการเผยแพร่ หากพบปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข กองบรรณาธิการจะประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมต่อไป

แนวปฏิบัติด้านจริยธรรมในการวิจัย

วารสารดนตรีรังสิต (RMJ) กำหนดให้ผลงานที่ส่งเพื่อตีพิมพ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนที่ทำการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต้องแนบหลักฐานการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งระบุข้อความยืนยันการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมภายในบทความ

ความรับผิดชอบของผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และบรรณาธิการ

วารสารดนตรีรังสิตตระหนักถึงบทบาทสำคัญของผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และบรรณาธิการ ในการรักษาคุณภาพและความน่าเชื่อถือของกระบวนการเผยแพร่ รายละเอียดของความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายมีดังนี้

ความรับผิดชอบของผู้เขียน

ผู้เขียนต้องรักษามาตรฐานสูงสุดด้านจริยธรรมในการเตรียมต้นฉบับและส่งบทความเพื่อเผยแพร่ โดยมีความรับผิดชอบดังต่อไปนี้

          1. ความเป็นต้นฉบับของผลงาน

  • บทความที่ส่งต้องเป็นผลงานต้นฉบับ ไม่เคยตีพิมพ์หรือส่งพิจารณาในวารสารอื่นมาก่อน และห้ามลอกเลียนผลงาน ห้ามลอกงานตนเอง หรือใช้เนื้อหาของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลทั้งหมดอย่างถูกต้อง รวมถึงแนวคิด ข้อมูล และข้อความจากงานวิจัยอื่น

          2. ความถูกต้องและความซื่อสัตย์ทางวิชาการ

  • ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และสามารถตรวจสอบได้ ห้ามบิดเบือนข้อมูล ปลอมแปลง หรือปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของงานวิจัย
  • ผลการศึกษาและข้อค้นพบต้องมีการรายงานอย่างชัดเจนและโปร่งใส

          3. การปฏิบัติตามแนวทางของวารสาร

  • ผู้เขียนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การส่งต้นฉบับของวารสาร รวมถึงรูปแบบการเขียน การอ้างอิง และการแสดงข้อมูลด้านจริยธรรม ซึ่งบทความที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์อาจถูกปฏิเสธ

          4. การให้เครดิตแก่ผู้มีส่วนร่วม

  • ต้องให้เครดิตแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมทางปัญญา ทางเทคนิค หรือการสนับสนุนทางการเงินอย่างเหมาะสม
  • ห้ามมีการเขียนชื่อผู้เขียนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมจริง (Ghost Writer) หรือการให้เครดิตโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม

          5. การเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อน

  • ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนหรือความเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการแปลความหมายของผลการศึกษา

          6. การแก้ไขและตอบกลับข้อเสนอแนะจากผู้ประเมิน

  • ผู้เขียนต้องตอบกลับข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินบทความอย่างครบถ้วนและให้เหตุผลที่ชัดเจนสำหรับข้อโต้แย้ง (ถ้ามี)
  • เมื่อต้องแก้ไขบทความ ควรระบุการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เห็นการแก้ไขที่ได้ดำเนินการ

          7. แนวปฏิบัติด้านจริยธรรมในการวิจัย

  • หากเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ผู้เขียนต้องแนบเอกสารรับรองการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมจากสถาบันหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประเมินบทความ

ผู้ประเมินบทความมีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพ ความถูกต้อง และความเป็นธรรมของกระบวนการประเมินในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้ 

          1. การประเมินอย่างเป็นกลาง

  • ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณาคุณภาพของต้นฉบับโดยอิงจากคุณค่าทางวิชาการ ความเป็นต้นฉบับ และการมีส่วนร่วมต่อศาสตร์ดนตรี เท่านั้น โดยปราศจากอคติส่วนตัว หรืออคติที่เกิดจากสถาบันและเชื้อชาติของผู้เขียน

          2. การให้ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์

  • ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจน เป็นกลาง และสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้ผู้เขียนสามารถพัฒนาคุณภาพบทความได้ โดยการวิพากษ์วิจารณ์ควรมุ่งเน้นที่เนื้อหาทางวิชาการ และหลีกเลี่ยงความคิดเห็นเชิงอัตวิสัยหรือภาษาที่ไม่เหมาะสม

          3. การส่งผลการประเมินตรงเวลา

  • ผู้ประเมินบทความต้องดำเนินการประเมินให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยวารสารดนตรีรังสิต (RMJ) หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด หรือหากเนื้อหาของบทความอยู่นอกเหนือขอบเขตความเชี่ยวชาญของตน ผู้ประเมินต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบโดยเร็ว

          4. การรักษาความลับ

  • ผู้ประเมินบทความต้องปฏิบัติต่อบทความที่ได้รับเป็นเอกสารลับ ห้ามเผยแพร่ แบ่งปัน หรือหารือเกี่ยวกับเนื้อหาของต้นฉบับกับบุคคลภายนอก นอกเหนือจากกระบวนการประเมินที่ได้รับมอบหมาย

          5. การหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

  • หากผู้ประเมินบทความพบว่าตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับต้นฉบับที่ได้รับมอบหมาย เช่น การเคยร่วมงานกับผู้เขียน หรือการมีงานวิจัยที่อยู่ในหัวข้อเดียวกัน ผู้ประเมินต้องปฏิเสธการประเมินและแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบ

          6. การเฝ้าระวังด้านจริยธรรม

  • หากผู้ประเมินบทความพบข้อกังวลด้านจริยธรรม เช่น การลอกเลียนผลงานทางวิชาการ หรือการบิดเบือนข้อมูล ผู้ประเมินต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบโดยทันที เพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินการตามหลักจริยธรรมทางวิชาการ

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

บรรณาธิการมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกระบวนการพิจารณากลั่นกรองบทความ และต้องรักษามาตรฐานจริยธรรมทางวิชาการในระดับสูงสุด โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้

          1. การรักษาความซื่อตรงทางวิชาการ

  • บรรณาธิการต้องตัดสินใจรับพิจารณา ปรับแก้ หรือปฏิเสธบทความโดยพิจารณาจากคุณภาพทางวิชาการ ความเป็นต้นฉบับ และความสอดคล้องกับขอบเขตของวารสาร เท่านั้น

          2. การตัดสินใจอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

  • บรรณาธิการต้องมีความเป็นกลาง ปราศจากอคติ และให้การพิจารณาบทความอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึง สังกัด เพศ เชื้อชาติ หรือสัญชาติของผู้เขียน

          3. การจัดการประเด็นด้านจริยธรรม

  • บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาด้านจริยธรรมทางวิชาการ เช่น การลอกเลียนผลงานทางวิชาการ การส่งบทความซ้ำซ้อน หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้จะดำเนินการตามแนวทางของ COPE ซึ่งอาจรวมถึงการปฏิเสธบทความ การเพิกถอน หรือการแจ้งสถาบันต้นสังกัดของผู้เขียน

          4. การรักษาความลับของข้อมูล

  • บรรณาธิการต้องรับรองว่าข้อมูลของต้นฉบับที่ส่งมาเพื่อพิจารณาจะถูกเก็บเป็นความลับ และไม่เปิดเผยให้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาบทความ

          5. การควบคุมคุณภาพของบทความ

  • บรรณาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบให้มั่นใจว่าบทความที่ได้รับการตีพิมพ์มีคุณภาพทางวิชาการสูงสุด มีความชัดเจน และมีความเป็นต้นฉบับ ทั้งนี้ อาจแนะนำให้มีการปรับปรุงด้านรูปแบบ ความชัดเจน หรือความสอดคล้องกับแนวทางของวารสาร

          6. การแต่งตั้งผู้ประเมินบทความ

  • บรรณาธิการต้องคัดเลือกผู้ประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามสาขาวิชา และสามารถพิจารณาบทความอย่างเป็นกลางและมีประสิทธิภาพ

          7. การจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน

  • บรรณาธิการต้องเปิดเผยและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากมีความเกี่ยวข้องกับบทความหรือผู้เขียน หากจำเป็นควรมอบหมายให้บรรณาธิการท่านอื่นเป็นผู้พิจารณาแทนเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง

          8. การสื่อสารกับผู้เขียน

  • บรรณาธิการต้องแจ้งผลการพิจารณาและข้อเสนอแนะต่อผู้เขียนอย่างชัดเจนและรวดเร็ว โดยให้คำอธิบายที่เพียงพอสำหรับการปฏิเสธหรือข้อเสนอแนะในการแก้ไขบทความ
  • หากมีความจำเป็นบรรณาธิการอาจติดต่อผู้เขียนเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือชี้แจงรายละเอียดของต้นฉบับ