การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มภูมิปัญญา ความเชื่อ และเรื่องเล่าสินค้าเกษตรแปรรูปชูอัตลักษณ์ เขา ป่า นา เล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ผู้แต่ง

  • กรกฎ จำเนียร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • เมธาวี จำเนียร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • ทองพูล มุขรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • ปรีชาพร เกตุแก้ว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • สุทิวัส เสือพยัคฆ์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • ณัฐนันท์ รัตนะ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

คำสำคัญ:

การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม , ภูมิปัญญา, ความเชื่อ, เรื่องเล่า, สินค้าเกษตรแปรรูป

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) คัดสรรสินค้าเกษตรแปรรูปตามอัตลักษณ์เขา ป่า นา เล จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 2) ศึกษาภูมิปัญญา ความเชื่อ และเรื่องเล่าของสินค้าเกษตร แปรรูปตามอัตลักษณ์เขา ป่า นา เล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม คณะผู้วิจัยดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่ ตลอดจน การสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสนทนากลุ่มผู้ประกอบการ โดยกลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจงจากการคัดสรรสินค้าเกษตร จำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ โซนเขา แป้งสาคูของตำบลอินคีรี อำเภอพรหมคีรี ผลิตภัณฑ์โซนป่า โลชั่นบำรุงผิวผสมน้ำผึ้ง กลุ่มผึ้งร่มไทรตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง ผลิตภัณฑ์โซนนา ปลาดุกร้าชะอวดควนเคร็ง อำเภอชะอวด และผลิตภัณฑ์โซนเล ปลาหวาน กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลปากพูน อำเภอเมือง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปตามอัตลักษณ์เขา ป่า นา เล จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) ในเชิงบริบทพื้นที่เขา ป่า นา เล ของจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะผู้วิจัยได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและผู้ประกอบการชุมชนคัดสรรผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปในแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์โซนเขา แป้งสาคูของตำบล อินคีรี อำเภอพรหมคีรี ผลิตภัณฑ์โซนป่า โลชั่นบำรุงผิวผสมน้ำผึ้ง กลุ่มผึ้งร่มไทรตำบลควนกรด อำเภอทุ่งสง ผลิตภัณฑ์โซนนา ปลาดุกร้าชะอวดควนเคร็ง อำเภอชะอวด และผลิตภัณฑ์โซนเล ปลาหวาน กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลปากพูน อำเภอเมือง 2) ผลการศึกษาภูมิปัญญา ความเชื่อ และเรื่องเล่าของสินค้าเกษตรแปรรูปตามอัตลักษณ์ เขา ป่า นา เล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม พบว่า ผลิตภัณฑ์โซนเขามีภูมิปัญญาในการแปรรูปจากต้นสาคูเป็นแป้งสาคูแบบเม็ดและแบบผง มีความเชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์เชิงพื้นที่ที่มีผลต่อคุณภาพของต้นสาคู นำไปสู่ เรื่องเล่าของต้นสาคูที่มีคุณภาพสู่ผลิตภัณฑ์ แป้งสาคูที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถัน สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งคาวและหวาน
ผลิตภัณฑ์โซนป่า มีภูมิปัญญาการเลี้ยงผึ้งโพรงแบบธรรมชาติ การเก็บรักษาคุณภาพ ของน้ำผึ้ง การแปรรูปน้ำผึ้งสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งบริโภคและอุปโภค
ผลิตภัณฑ์โซนนา มีภูมิปัญญาการเลี้ยงปลาดุกแบบธรรมชาติและการนำมาแปรรูปเป็น ปลาดุกร้า เรื่องราวความเป็นมาและสูตรเฉพาะของปลาดุกร้า การมีความเชื่อในเรื่องของรสชาติ ที่หวานนำ เค็มตาม ไม่ทำลายสุขภาพ พัฒนาสู่ศูนย์การเรียนรู้ของตำบล จนกลายเป็นแบรนด์ ศรีนวลปลาดุกร้าอินเตอร์
ผลิตภัณฑ์โซนเล มีการนำปลาขนาดเล็กที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ผ่านสูตรการทำเฉพาะของชาวบ้าน โดยความเชื่อว่าปลาบริเวณพื้นที่ปากน้ำปากพูน มีรสชาติดี เนื้อแน่น หวาน ไม่แข็ง และมีให้เลือกจากหลายประเภทปลา และสามารถพัฒนาเป็นอาหารอื่น ๆ ได้

References

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). นครศรีธรรมราช. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: https://dmcrth.dmcr.go.th/attachment/dw/download.php?WP=nKq4MUN3oGu3ZHkCoMOahKGtnJg4WaNloGM3ZxjmoH9axUF5nrO4MNo7o3Qo7o3Q (2021, 10 ธันวาคม).

กำจร หลุยยะพงศ์. (2565). ก้าวใหม่ การสื่อสารกับชุมชนศึกษา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ตรีฤกษ์ เพชรมนต์. (2565). การตลาด 101. กรุงเทพฯ: พี เอ็น เค แอนด์ สกายพริ้นติ้งส์.

เทิดชาย ช่วยบำรุง. (2554). ภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพฯ: เอ.พี. กราฟิค ดีไซน์และการพิมพ์.

พรรณี พิมาพันธุ์ศรี. (2563). รูปแบบการมีส่วนร่วมเพื่อการคิดสร้างสรรค์สู่การเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน. วารสารการจัดการธุรกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา. 9(2): 105-106.

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2562). ข้อมูลฐานข้อมูล OTOP ปี 2562. สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2561). รายงานผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2561. [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก: http://nstpeo.go.th/pubnstpeo/2562_001.pdf?fbclid=IwAR1AUwZxRmY4Qq7 xs (2021, 15 ธันวาคม).

สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์. (2564). ท้องถิ่นอินเตอร์. กรุงเทพฯ: ศิริชัย การพิมพ์.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

26-04-2023