การคงอยู่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
Main Article Content
Abstract
การวิจัยเรื่อง การคงอยู่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น: กรณีศึกษาจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ (1) เพื่อศึกษาบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (2) เพื่อศึกษาการปรับตัวของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (3) เพื่อศึกษาถึงแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์ จำนวน 65 คน การศึกษาจากเอกสาร กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลและตอบวัตถุประสงค์การวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พบว่า ในด้านกฎหมายนั้นถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านลดลงแต่อย่างใด สำหรับบทบาททางสังคมนั้นกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ยังมีความสำคัญต่อประชาชนในฐานะผู้นำตามธรรมชาติแบบบารมีชนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับประชาชนและเป็นผู้นำทางจิตวิทยาในระดับชุมชน
การคงอยู่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พบว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นตำแหน่งที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแแต่ปี พ.ศ. 2435 พร้อมกับการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ของไทย ในขณะที่นโยบายด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเริ่มมีความเป็นรูปธรรมเมื่อหลังปี พ.ศ. 2540 โดยภาพของกำนันผู้ใหญ่บ้านถูกมองว่ามีหน้าที่ในด้านการปกครอง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ด้านการบริหารและพัฒนาพื้นที่ ดังนั้นผลจากการที่รัฐไทยมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจมาอย่างยาวนานส่งผลกำนันผู้ใหญ่บ้านกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นรัฐราชการของไทย ในด้านการปรับตัวของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น ได้แก่ การพยายามสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับความชอบธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การดึงเอามวลชนและกลุ่มองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่เข้ามาเป็นภาคีร่วม การเชื่อมโยงกับระบบราชการและการเมืองในระดับชาติ และความพยายามในการสานสัมพันธ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ มีสองแนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกพื้นที่ใดเป็นเขตเทศบาลให้ยกเลิกตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมนั้นอยู่ในตำแหน่งไปจนถึงอายุครบหกสิบปี และแนวทางที่สองคือ การนำนโยบายการกระจายอำนาจไปปฏิบัติอย่างเข้มแข็งโดยผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน และประชาชน
The research on the existence of Kam-nan (sub-district headman) and Poo-yai-ban (village headman) in the contexts of local decentralization aimed at (1) inquiring the roles of Kam-nan and Poo-yai-ban in the contexts of local decentralization (2) examining the adjustments of Kam-nan and Poo-yai-ban in the contexts of local decentralization (3) finding suggestions for structural reforms of Territory Administration. This research employed qualitative research, which were focused group-interview and interviewing with the sixty-five interviewees, inquiring of related rules and regulations concerning Kam-nan and Poo-yai-ban, in order to analyze and obtain the research’s objectives.
The inquiry on the roles of Kam-nan and Poo-yai-ban in the contexts of local decentralization revealed that, in legal aspect, though there has been decentralization to the locals, the roles of Kam-nan and Poo-yai-ban had not faded out. In the social aspect of their roles, Kam-nan and Poo-yai-ban were still taking important roles to their people because Kam-nan and Poo-yai-ban were the natural charismatic leaders and spiritual leaders who were the linking point for cooperation between government and the people.
The inquiry of the existence of Kam-nan and Poo-yai-ban founded that while Kam-nan and Poo-yai-ban were the titles with long history since 1892 A.D. (as long as the age of Thailand modern nation-state building), the decentralization policy was just concretized much more recently in 1997 A.D. While the roles of Kam-nan and Poo-yai-ban were seen as governing, the roles of Local Administrative Organizations were seen as management and development. Therefore, since Thai state had long history of being the centralized state, Kam-nan and Poo-yai-ban became the reflections of Thai Bureaucratic State. When considered the adjustment of Kam-nan and Poo-yai-ban in the contexts of power decentralization, it can be seen that Kam-nan and Poo-yai-ban have constructed discourse to support their legitimacy by attaching it with the long history of their existence, mobilized the mass and the community organizations, strengthened their connection with the bureaucrats and national politicians, and tried to keep their connection with the Local Administrative Organizations.
Suggestions for Territory Administration reformation retrieved from this research were twofold, firstly, removing the title of Kam-nan and Poo-yai-ban from all municipalities but let the existing Kam-nan and Poo-yai-ban take their duty until they retire at age of sixty. Secondly,firmly implement decentralization policy through Local Administrative Organizations, community organizations, and the people.
Article Details
ลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร
ความรับผิดชอบ เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์บทความหรือผู้เขียนเอง ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์
References
ไททัศน์ มาลา. 2556. พัฒนาการของกำนันผู้ใหญ่บ้าน : สถานภาพและการคงอยู่ภายใต้บริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น. รัฐสภาสาร. ปีที่ 61 ฉบับที่ 5. หน้า 44-67.
ไททัศน์ มาลา. 2559. การคงอยู่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านในบริบทของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น: กรณีศึกษาจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. รายงานวิจัยเสนอต่อ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และคณะ. (2546). บทบาทอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และการปกครองท้องที่. รายงานการวิจัย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา.
ปริญ นิทัศน์เอก. (2553). พัฒนาการของการปกครองท้องที่ไทยในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (พ.ศ. 2440-2552). ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิรัตน์ ไชยสิทธิ์. (2547). ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะ ปกครองท้องที่ และกฎหมายอื่นที่กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน: ศึกษากรณีกำนันและผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดนครนายก. รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา.
สมคิด เลิศไพฑูรย์และคณะ. 2553. การดำรงอยู่ของตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีเทศบาลเมืองเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี. รายงานการวิจัย เสนอต่อ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย