การวิเคราะห์โครงสร้างและพฤติกรรมการแข่งขันของนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมในประเทศไทย

Main Article Content

กัณญาภัค ตรังคิณีนาถ
จรินทร์ เจริญศรีวัฒนกุล

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างและพฤติกรรมการแข่งขันของนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2560 ของธุรกิจรายใหญ่ 4 ธุรกิจ ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) โดยวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันของ 4 ธุรกิจดังกล่าว ซึ่งจะพิจารณาจากเส้น Lorenz curve และค่า Gini-coefficient สำหรับการวิเคราะห์ระดับการกระจุกตัว ใช้เครื่องมือวัด 2 วีธีคือ อัตราส่วนการกระจุกตัว (concentration ratio--CR) และอัตราส่วนขนาดของหน่วยธุรกิจ (size ratio--W)  รวมทั้งพฤติกรรมการแข่งขันทางการตลาดและด้านกลยุทธ์ที่ไม่ใช่ราคา


 ผลการศึกษาพบว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 64 ของมูลค่ารวมทั้งตลาด แสดงว่าทั้งสองธุรกิจนี้มีอำนาจการผูกขาดสูง ผลการวิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกัน พบว่า เส้น Lorenz curve มีความโค้งเพิ่มขึ้น และห่างจากเส้นทะแยงมุม ค่า Gini-coefficient มีค่าเท่ากับ 0.32 แสดงว่า อุตสาหกรรมนี้มีความแตกต่างของขนาดเล็กน้อย  สำหรับค่า CR2 มีค่ามากกว่าร้อยละ 67 แสดงว่า ธุรกิจนี้มีการกระจุกตัวสูง การแข่งขันมีน้อย จึงทำให้เกิดการผูกขาดสูง และ    ค่า W มีค่าน้อยกว่า 16 แสดงว่า ขนาดของธุรกิจมีความใกล้เคียงกัน จากผล CR2 มีค่าสูงและ W2        มีค่าต่ำ แสดงว่า ในธุรกิจมีระดับการแข่งขันต่ำ ขนาดของธุรกิจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย และจากการศึกษาพฤติกรรมการแข่งขันทางการตลาดและด้านกลยุทธ์ที่ไม่ใช่ราคา พบว่า ธุรกิจนี้มีการร่วมมือกันดำเนินธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในด้านการจัดหาที่ดินในอนาคตเพื่อรองรับนักลงทุน ส่วนด้านการส่งเสริมการขาย ภาคเอกชนจะร่วมกับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำการตลาดโดยตรง เช่น การใช้พนักงานที่มีความสามารถหลายภาษามานำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับผู้ประกอบการที่สนใจ

Article Details

บท
บทความวิจัย