บทบรรณาธิการ
Main Article Content
บทคัดย่อ
วารสารวิชาการ วิวิธวรรณสาร ฉบับนี้ เป็นปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2565) ประกอบด้วยบทความวิชาการ บทความวิจัย รวม 9 เรื่อง แบ่งเป็น บทความวิเคราะห์กลวิธีทางภาษา 2 เรื่อง การวิเคราะห์วรรณกรรมเชิงวิจารณ์ 4 เรื่อง การศึกษาเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 2 เรื่อง และบทความเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาไทย 1 เรื่อง บทความวิเคราะห์กลวิธีทางภาษา 2 เรื่อง ได้แก่ An Analysis of Personification as a Rhetorical Device in the US Presidents’ Speeches in Four Decades เป็นการวิเคราะห์กลวิธีทางภาษาในบทสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2524-2564 ซึ่งพบว่า กลวิธีทางภาษาที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเลือกใช้มากที่สุดคือการใช้วาทศิลป์แบบบุคลาธิษฐาน และเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านกับพระราชนิพนธ์เรื่องเมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่ สวิทเซอร์แลนด์ ซึ่งพบว่ามีความเหมือนกันในด้านรูปแบบการเขียน การใช้ภาษาจินตภาพ และความเปรียบ ส่วนความต่างเป็นเรื่องของเวลา บริบทของสังคม และพระชนมพรรษาที่ส่งผลต่อโลกทัศน์ที่สะท้อนออกมา การวิเคราะห์วรรณกรรมเชิงวิจารณ์ 4 เรื่อง ได้แก่ ภูมินามสถานที่ในนิทานพื้นบ้านเขมร: การวิเคราะห์แนววาทกรรมเชิงนิเวศ ความพยายามที่จะเชื่อมโยงชื่อสถานที่ต่างๆ ในนิทานพื้นบ้านเขมรมีสัมพันธ์กับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร LGBTQ ความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์และวาทกรรมความลื่นไหลมิติเพศในสังคมไทย เป็นความพยายามจะศึกษาสภาพความหลากหลายทางเพศที่ใช้ตัวย่อว่า LGBTQ กล่าวคือ L-Lesbian (ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกัน) G-Gay (บุคคลที่ชอบเพศเดียวกัน) B-Bisexual (บุคคลที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง) T-Transgender (บุคคลที่มีจิตใจตรงข้ามกับเพศสภาพ) และ Q-Queer (เพศไร้กรอบ) ผู้คนเหล่านี้ ต่างต้องการพื้นที่และต้องการแสดงตัวตนอย่างเปิดเผยในท่ามสังคมไทยที่ยังไม่พร้อมจะยอมรับความหลากหลายนี้มากนัก ภาพแทนและการประกอบสร้าง “สัตว์” ในรวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ ของ จเด็จ กำจรเดช มุ่งศึกษาลักษณะเด่นของกลวิธีสร้างสรรค์เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2563 ซึ่งพบเทคนิคการนำเสนอที่เต็มไปด้วยสัญญะ ภาพแทน และการประกอบสร้างและ วิกฤตความเป็นชายในรวมเรื่องสั้น สนธยาสโมสร มุ่งศึกษาและได้ผลสะท้อนว่า แนวคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ กำลังถูกท้าทายอำนาจจากมนุษย์ที่ไม่ใช่ผู้ชาย การศึกษาเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 2 เรื่อง ได้แก่ จินตนาการหน้ากากผีในวัฒนธรรมพุทธสองฝั่งโขง เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผีผ่านหน้ากากที่สร้างขึ้นในพิธีกรรม ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้วัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นใหญ่ในพื้นที่สองฝั่งโขง และ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในมิติวิถีใหม่ของชาวชุมชนตลาดน้ำพื้นที่กรุงเทพมหานคร ความพยายามที่จะทำให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาชุมชนมีมูลค่าในเชิงการท่องเที่ยว นอกจากนี้แล้ว ยังมีบทความเกี่ยวกับการเรียนการสอน 1 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิด KWL Plus เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านเชิงวิเคราะห์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ยืนยันว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านทฤษฎีที่เชื่อถือได้อย่างจริงจัง ผู้เรียนย่อมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงกว่าการสอนแบบเดิม กองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้ความอนุเคราะห์ตรวจวิพากษ์บทความ เพื่อให้ได้บทความที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางวิชาการ และขอขอบคุณผู้เขียนบทความที่เชื่อใจให้เราเป็นยานพาหนะนำสารของท่านไปสู่ผู้อ่าน
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ลิขสิทธิ์ของบทความเป็นของวารสาร การพิมพ์ซ้ำจะต้องได้ร้บการอนุญาตจากบรรณาธิการวารสาร
References
-