บทบรรณาธิการ
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทบรรณาธิการ
กลอนสุภาพ
ปีที่แปดเล่มยี่สิบสี่สถานีวิวิธ วรรณสารเนรมิตสฤษฎ์วิถี
สิบเอ็ดบทพจนารถประกาศมี ปรากฏในเล่มนี้ที่ชวนพินิจ
ร่ายยาว
บทความหนึ่ง กลวิธีทางภาษาที่ถ่ายทอดชุดความคิดในวาทกรรมการเมืองในบทละครเรื่อง “เส้นลองจิจูดที่ 180 องศาลากผ่านเรา” มุ่งศึกษาวาทกรรมที่แทรกซึมเข้าในวิถีชีวิตประจำวัน คืออำนาจวัฒนธรรม์สังคมสร้างสมเป็นตัวบท สะท้อนปรากฏผ่านบทละครโทรทัศน์ ศึกษาตามกระบวนวัตรวิจัยทางวาทกรรม วิเคราะห์เชิงวิพากษ์ผลิตซ้ำกรอบทางสังคมวัฒนธรรม ที่กดข่มโน้มนำงำความนึกคิดของผู้คน
บทความสอง การเห็นคุณค่าในตนเอง : พลังแห่งความคิดเชิงบวกของตัวละครเยาวชน
ในวรรณกรรมรางวัลแว่นแก้ว วิธีวิจัยอีกแนวที่มุ่งหมายก้าวพ้นไปจากความเพ้อฝัน ชวนพลิกผันพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทย เพื่อประโยชน์ใช้การอ่านให้มีความหมายและเพื่อคุณภาพชีวิต ย่อมขึ้นอยู่กับการครุ่นพินิจย้อนคุณค่าในตัวตน ก้าวเดินสู่หนทางพัฒนาสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
บทความสาม เมื่อเชื่อมั่นว่าผู้เรียนมีความสามารถ ผลของกิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติต่อความคงทนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักศึกษาปริญญาตรี เป็นการศึกษาตามกระบวนวิธีทดลองทางการศึกษาด้วยกิจกรรมแสดงบทบาทสมมติเพื่อพัฒนา ให้นักศึกษามีคะแนนผลสัมฤทธิ์มากกว่าก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
บทความสี่ การสร้างการรับรู้เพื่อส่งเสริมการตลาดด้วยเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ โอทอปแคฝรั่ง จังหวัดสระแก้ว บรรลุผลแล้วเป็นผลสำเร็จ โดยผู้ประกอบการทั้ง 7 แหล่ง แถลงข้อมูลให้ประสบการณ์ ก่อเกิดแรงแรงบันดาลการเรียนรู้สู่ทักษะอาชีพไกลกว้าง ทั้งการสร้างเรื่องเล่าผลิตภัณฑ์ของโรงเรียน เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนผ่านสื่อสังคมที่หลากหลาย
บทความห้า ความป่วยไข้ของเพศหญิงในนวนิยายเรื่อง “หนึ่งนับวันนิรันดร” การเชื่อมโยงของระบบคิดปิตาธิปไตยสะท้อนผ่านนวนิยายที่ขยายเรื่องราวความป่วยไข้ของเพศหญิง ที่ความจริงในเรื่องเล่าอาจกล่าวได้ว่า แม้แต่การเยียวยาบำบัดอาการป่วยไข้ ก็ล้วนวิเคราะห์ได้ในการผลิตซ้ำแนววิถีสังคมที่นิยมผู้ชายเป็นใหญ่ทั้งสิ้น
บทความหก การสร้างสรรค์ศิลปกรรมเมืองเชียงแสนบนพื้นฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อรองรับมหกรรมศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 มุ่งศึกษาพยายามวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้เกิดการสร้างสรรค์ที่เหมาะกับการณ์สมัยของศิลปกรรม ด้วยหลักฐานตำนาน พงศาวดาร เอกสารทุติยภูมิ ปูมเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน ที่ผ่านการศึกษาตามแบบแผนหลายหน่วยงานเข้ามีส่วนร่วมศรัทธา ผลวิจัยที่ปรารถนาคือความทันสมัย ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เกิดเศรษฐกิจที่แบ่งปันรายได้ทั้งในวงธุรกิจและวงชาวบ้าน
บทความเจ็ด การพัฒนาอัตลักษณ์เสื่อกกชุมชนเสม็ดงาม ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป้าหมายเชิงพื้นที่คือกลุ่มสตรีทอเสื่อกกจันทบูร ให้เจริญรุดหน้าเพิ่มพูนด้วยวิธีวิจัยแบบมีส่วนร่วมในหลายแง่มุมหลากมิติ เพื่อก่อให้เกิดการผลิผลิตสร้างอัตลักษณ์ใหม่ ผลวิจัยใช้นำต่อยอดความรู้สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและท้าทาย
บทความแปด บทเพลงประกอบซีรีส์วาย: ลักษณะแนวคิดด้านความรักประเภทชายรักชาย มุ่งศึกษาตีความหมายวรรณกรรมเพลงยุคใหม่ที่ปรากฏประกาศ สู่ความเข้าใจรสชาติแห่งเพศวิถี ความรัก ความต้องการที่วิวัฒน์ไปไกล ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจชีวิตมนุษย์ผ่านวรรณกรรมเพลง ซึ่งไม่ได้เพียงมุ่งบรรเลงเพื่อความหรรษา หากมีเจตนาที่แอบแฝงด้วยรสนิยมที่หลากหลายเหลือจะกล่าว
บทความเก้า มองอัตลักษณ์ผ่านการกระทำ วัจนกรรมการตั้งสถานะเฟซบุ๊กของนักศึกษาคณะ ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี การศึกษาตามทฤษฎีวัจนกรรม ที่พบการปรากฏซ้ำของการตั้งสถานะเฟซบุ๊กของนักศึกษา แบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยึดถือการชี้นำและสั่งการ กลุ่มชื่นชอบไขขานสานสนทนา กลุ่มมีศรัทธารู้สารู้สึก และสุดท้ายคือกลุ่มสำนึกผูกมัด
บทความสิบ ภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมอาหารประเภทกะละแมในประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญตำบลบางตะไนย์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มุ่งศึกษาตามกระบวนวิธีการวิจัยทางภูมิปัญญาไทย ผลวิจัยสะท้อนคุณค่าของวัฒนธรรมทางอาหารที่นำความหวานชื่นสู่ชีวิต ต่อยอดแนวคิดสู่การสร้างอาชีพในครอบครัวชุมชน ตลอดจนผลิดอกผลสู่การเรียนรู้พัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มพูนผลกำไร
บทความสิบเอ็ด การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การสร้างคำในภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบเกมเป็นฐานร่วมกับสื่อเกมกระดาษอัจฉริยะ การศึกษาที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนภาษาไทย และร่วมผลักดันการศึกษาให้สมสมัยสู่ความเจริญวิวัฒน์พัฒนา
กาพย์ยานี 11
สิบเอ็ดบทกำหนดรู้ การหยัดอยู่มิห่างเหิน
ฟันฝ่ากล้าเผชิญ ดำรงวรรณบรรณพิภพ
บุณยเสนอ ตรีวิเศษ
บรรณาธิการ
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ลิขสิทธิ์ของบทความเป็นของวารสาร การพิมพ์ซ้ำจะต้องได้ร้บการอนุญาตจากบรรณาธิการวารสาร
References
-