มาตรฐานทางจริยธรรมของวารสาร

          วารสารวิชาการพุทธสังคมวิทยาปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช เป็นวารสารวิชาการด้านพุทธศาสนา ปรัชญา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติและจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ และงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรรการตีพิมพ์นานาชาติ ดังนั้น วารสารวิชาการพุทธสังคมวิทยาปริทรรศน์ จึงได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้เขียน ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และกองบรรณาธิการไว้ ดังนี้

 

          มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้เขียน

          1. ผู้เขียนจะต้องนำเสนอบทความที่ไม่เคยได้รับการพิมพ์ หรือไม่ได้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารหรือแหล่งตีพิมพ์อื่น หรือได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารฉบับอื่น

          2. ผู้เขียนจะต้องทำตามรูปแบบที่วารสารได้กำหนดไว้ทุกประการ และต้องยินยอมปรับแก้ต้นฉบับตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และกองบรรณาธิการ โดยเฉพาะหัวข้อ รูปแบบของการจัดเตรียมต้นฉบับ อันจะนำไปสู่บทความที่มีรูแปบบการตีพิมพ์ที่ได้มาตรฐานเดียวกัน

          3. ผู้เขียนต้องคำนำนึงถึงจริยธรรมทางวิชาการไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น

          4. หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนเอง ผู้เขียนจะต้องอ้างอิง และจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา และไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิงหรือใส่ไว้ในบรรณานุกรม และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป รวมทั้งต้องอ้างอิงจากรูปแบบการอ้างอิงของบทความ โดยจะต้องมีการอ้างอิงตรงตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้

          5. ผู้เขียนจะต้องปรับแก้ไขบทความตามผลประเมินจากผู้ประเมินบทความและกองบรรณาธิการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หากไม่เป็นตามที่กำหนดจะต้องเลื่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป หรือ อาจถูกถอดถอนออกจากวารสาร

          6. ผู้เขียนจะต้องมีความรับผิดชอบในการอ้างอิงเนื้อหาในผลงาน ภาพ หรือตาราง หากมีการนำมาใฃ้ในบทความของตนเอง โดยให้ระบุ “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารพุทธสังคมวิทยาปริทรรศน์จะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น) และจะดำเนินการถอนบทความออกจากการเผยแพร่ของวารสารทันที

 

          มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ประเมินบทความ

          1. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลักพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน หากตระหนักว่าตนเองอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความผู้ทรงคุณวุฒิควรแจ้งบรรณาธิการทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

          2. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความต้องตระหนักว่า ตนเองเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง และจะประเมินอย่างตรงไปตรงมาปราศจากอคติและตรงต่อเวลาตามที่วารสารกำหนด

          3. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความ ควรมีจรรยาบรรณาคือ ไม่แสวงหาประโยชน์จากการประเมินบทความ และต้องรักษาความลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ รวมถึงหลังจากที่พิจารณาประเมินบทความเสร็จแล้ว

          4. หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมิน เป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น ๆจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที พร้อมแสดงหลักฐานประกอบที่ชัดเจน

          5. ผู้ทรงคุณวุฒจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และจะไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง

 

          มาตรฐานทางจริยธรรมของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ

          1. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกบทความตามรูปแบบการตีพิมพ์ของวารสารและตรวจสอบบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เนื้อหา การใช้ภาษา การอ้างอิงรวมทั้งการรวบรวมบทความก่อนส่งไปยังผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

          2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่สรุปผลการประเมินข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ เพื่อส่งให้ผู้เขียนแก้ไข

          3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของบทความ หลังจากผู้เขียนปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ หากผู้เขียนไม่ได้แก้ไขตามผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ กองบรรณาธิการมสิทธิยกเลิกบทความของผู้เขียนได้ทันที

          4. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่ปิดกั้น เปลี่ยนแปลง หรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียน

          5. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ปกปิดข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

          6. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่พัฒนาคุณภาพวารสารให้มีความทันสมัย เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น

          7. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

          8. บรรณาธิการต้องกำกับติดตามดูแลทั้งด้านจำนวนและคุณภาพบทความของวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และดูแลให้ดำเนินการตามใตรฐานทางจรรยาบรรณ/จริยธรรมอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบว่ามีการกระทำผิดด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณ เช่น การละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมากเป็นของตนเอง การอ้างอิงของสารที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น มีการร้องขอให้มีการอ้างอิงบทความในวารสาร เป็นต้น จะต้องดำเนินการตามความเหมาะสม

          9. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสาร อย่างเคร่งครัด