“มหาราชาภูมิพล” การสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อถวายพระอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
คำสำคัญ:
บทประพันธ์เพลง, มหาราชาภูมิพล, วงดุริยางค์เครื่องลมบทคัดย่อ
บทประพันธ์เพลง “มหาราชาภูมิพล” มีที่มาสืบเนื่องจาก การที่มหาวิทยาลัยบูรพา สำนึกในพระหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ยังความโศกเศร้าสู่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ในการนี้มหาวิทยาลัยจึงมีดำริในการจัดงานเพื่อน้อมถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช จึงมอบหมายให้คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นฝ่ายจัดงานในครั้งนี้ โดยใช้ชื่องานว่า “หนึ่งศิลป์หนึ่งชีวี บรรเลงถวายไท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ” ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ณ บริเวณลานธรรม มหาวิทยาลัยบูรพา
จากงานดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแนวคิดและจุดประสงค์ที่จะสร้างสรรค์บทประพันธ์เพลง “มหาราชาภูมิพล”เพื่อเป็นการน้อมถวายการส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย โดยการสร้างทำนองจากคำร้องก่อน หลังจากนั้น นำคำร้องและทำนองมากำหนดรูปแบบการประพันธ์ โดยแบ่งเป็น ช่วงเกริ่นนำ (Introduction) ทำนองหลักที่ 1 (Verse 1) ทำนองหลักที่ 2 (Verse 2) ท่อนสร้อย (Chorus) ทำนองหลักที่ 3 (Verse 3) ท่อนสร้อย (Chorus) ท่อนเชื่อม (Bridge) ท่อนเดี่ยว (Solo) ท่อนสร้อย (Chorus) โดยเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับบรรเลงโดย “วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา” ร่วมกับ “คณะขับร้องประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยบูรพา”
บทประพันธ์เพลง “มหาราชาภูมิพล” ผู้ประพันธ์ได้สร้างคำร้องและเสียงประสานไปพร้อมกัน แล้วจึงมาทำการเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงดุริยางค์เครื่องลม โครงสร้างคอร์ดส่วนใหญ่เป็นคอร์ดพื้นฐาน สังคีตลักษณ์เป็นแบบดนตรีสมัยนิยม พื้นผิวของดนตรีเป็นแบบโฮโมโฟนี มีการเปลี่ยนกุญแจเสียงในช่วงท่อนเชื่อมและท่อนสร้อย ใช้การประสมเสียงของเครื่องดนตรีหลากหลายเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์กับบทเพลงมากที่สุดตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการ