นาฏศิลป์หลังสมัยใหม่ของญี่ปุ่น: ประวัติและแนวคิดของบุโตะ
คำสำคัญ:
บุโตะ, นาฏศิลป์หลังสมัยใหม่, นาฏศิลป์ญี่ปุ่น, ความล้ำยุคของนาฏศิลป์บทคัดย่อ
บทความนี้ต้องการศึกษาประวัติและแนวคิดของนาฏศิลป์บุโตะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนาฏศิลป์ร่วมสมัยของประเทศญี่ปุ่น นักวิชาการและศิลปินทางด้านนาฏศิลป์ในตะวันตกต่างยกย่องให้นาฏศิลป์บุโตะเป็น “อาว็อง-การ์ด แด๊นซ์ (avant-garde dance)” หมายถึงนาฏศิลป์ที่มีความทันใหม่และ
ล้ำยุค เปรียบได้กับเป็นนาฏศิลป์หลังสมัยใหม่ (postmodern dance) ของสังคมญี่ปุ่นในด้านประวัติของนาฏศิลป์บุโตะพบว่า “บุโตะ (Butoh)” หมายถึงการเต้นรำแห่งความมืด (dance of darkness) เป็นนาฏศิลป์ที่เริ่มต้นในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวช่วงทศวรรษที่ 1950
ผู้บุกเบิกคำสำคัญคือ ทัทซึมิ ฮิจิกาตะ (Tatsumi Hijikata) และคะซึโอะ โอโนะ (kazuo Ohno) มีปรัชญาที่นาฏศิลป์บุโตะใช้คือ “ความงามที่ซ่อนเร้นอยู่ในความน่าเกลียด”เพราะมักตีแผ่เรื่องราวแห่งฝันร้าย บทกวี กามารมณ์ ความล่อแหลมของจิตวิญญาณมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
และในด้านแนวคิดของนาฏศิลป์บุโตะพบว่า มักอาศัยเรื่องราวและเหตุผลของธรรมชาติมาเป็นสิ่งจูงใจในการกำหนดการเคลื่อนไหวร่างกาย มักมีการใช้เรื่องของสีเป็นสัญลักษณ์ในการแสดง พบมากคือการใช้สีขาว เพราะเชื่อว่าสีขาวเป็นสีแห่งความดับสูญหรือความตาย
มักนำเสนอความน่าเกลียดผ่านรูปลักษณ์ภายนอก กล่าวคือ มีการทำใบหน้าที่บิดเบี้ยว หรือความพยายามเคลื่อนไหวด้วยท่าทางที่แปลกประหลาด มักมีการด้นสดของนักแสดงเพื่อเชื่อมโยงกับจินตรนาการ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป
และยังพบเห็นการแสดงนาฏศิลป์บุโตะที่ปราศจากเสื้อผ้าอาภรณ์หรือเส้นผม (หมายถึงการโกนหัว) ได้ในบางโอกาส ที่สรุปมานี้เห็นได้ว่านาฏศิลป์บุโตะอาศัยเรื่องปัชญาของชีวิตมนุษย์และเรื่องราวจากธรรมชาติมาเป็นพื้นฐานในการแสดง