หลักสูตรการเรียนการสอนบัลเล่ต์ในค่านิยมปัจจุบันของสังคมไทย

ผู้แต่ง

  • ภัชภรชา แก้วพลอย คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

คำสำคัญ:

หลักสูตรการเรียนการสอน, บัลเล่ต์, ค่านิยม

บทคัดย่อ

ปัจจุบันสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงโดยรับเอารูปแบบวัฒนธรรมตะวันตก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิต  เป็นเหตุให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเมืองเกิดมีการแข่งขันและข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิต การสร้างความเป็นปัจเจกบุคคลหรือการเลือกอาชีพ เป็นต้น บัลเล่ต์เป็นรูปแบบนาฏศิลป์ตะวันตกประเภทหนึ่ง ที่เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในสังคมเมืองขนาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าค่านิยม อาชีพ ทัศนคติหลากหลายมิติเกี่ยวกับศาสตร์แขนงนี้    

ปัจจุบันพบว่ามีการนำหลักสูตรการเรียนการสอนบัลเล่ต์จากต่างประเทศหลากหลายหลักสูตรมาใช้ในการเรียนการสอน และการสอบวัดประเมินผลตามสถานศึกษาต่างๆทั่วประเทศไทย เช่น หลักสูตร คอมมอนเวลท์ โซไซตี้ ออฟ ทีชเชอร์ ออฟ แดนซิ่ง (C.S.T.D.) หลักสูตร ออสเตรเลียน ทีชเชอร์ ออฟ แดนซิ่ง (A.T.O.D) หลักสูตร รัสเซียน บัลเล่ต์ โซไซตี้ (R.B.S) หลักสูตร ดิ ออสเตรเลียน   แดนซ์ แอซโซซิเอชั่น (A.D.A) หลักสูตรบัลเล่ต์ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ที่แพร่หลายมายาวนานที่สุดเป็นหลักสูตร โรยัล อคาเดมี ออฟ แดนซ์ ( R.A.D ) จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเสมือนแม่แบบการเรียนการสอนบัลเล่ต์ของไทยตามมาตรฐานสากล และได้รับความนิยมมากขึ้นในผู้ปกครองชาวไทย 

ถึงแม้ว่าหลักสูตรบัลเล่ต์ที่นิยมสอนอย่างแพร่หลายในประเทศไทยนั้นจะมีมาตรฐานระดับสากล ทั้งในด้านการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกาย เทคนิคการเต้นรำ ทักษะด้านดนตรีและทักษะด้านการแสดง ที่สามารถต่อยอดถึงระดับอาชีพตลอดจนสามารถผลิตนักเต้นที่มีคุณภาพต่อสังคมไทยได้ โดยจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยนั้น มีผู้เรียนที่จบหลักสูตรบัลเล่ต์ระดับอาชีพหลายต่อหลายคน หากแต่ในเมืองไทยนั้นยังไม่มีคณะบัลเล่ต์ระดับอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างแท้จริง จึงเป็นผลให้การพัฒนาขีดความสามารถในอาชีพการเป็นนักแสดงต้องถูกตัดทอนลงไป ศิลปะการเต้นบัลเล่ต์ก็อาจถูกจำกัดอยู่แค่วงการศึกษาหรือถูกนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆ

บทความชิ้นนี้นำเสนอค่านิยมของการเรียนการสอนบัลเล่ต์ในประเทศไทย  ผู้อ่านจะได้   องค์ความรู้ ประวัติ พัฒนาการการเรียนการสอนบัลเล่ต์ในประเทศไทย อีกทั้งมุมมองข้อเสนอแนะในการพัฒนาศิลปะแขนงนี้ในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบหรืออ้างถึงศาสตร์ทางการเรียนการสอนและการแสดงแขนงอื่นได้ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-06-2016