ศึกษาเทคนิคการฝึกซ้อมรูดิเมนท์และจังหวะสวิงสำหรับกลองชุด กรณีศึกษา มังกร ปี่แก้ว ชนุตร์ เตชธนนันท์ และ สุทธิพงษ์ ปานคง
คำสำคัญ:
การฝึกซ้อมกลองชุด, รูดิเมนท์, จังหวะสวิงบทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการฝึกซ้อมรูดิเมนท์และจังหวะสวิงสำหรับกลองชุด ผู้ให้ข้อมูลคือ อาจารย์มังกร ปี่แก้ว อาจารย์ชนุตร์ เตชธนนันท์ และอาจารย์สุทธิพงษ์ ปานคง ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์และนำมาวิเคราะห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้ 1) การฝึกซ้อมรูดิเมนท์ อาจารย์ 3 ท่านจับไม้กลองในตำแหน่งที่ตีแล้วทำให้ไม้กลองมีการรีบาวน์ และเริ่มต้นฝึกซ้อมรูดิเมนท์ที่เป็นรูปแบบมาตรฐานแล้วนำมาผสมกับรูปแบบที่คิดขึ้นใหม่ เพื่อสร้างรูดิเมนท์ในรูปแบบเฉพาะตัว รวมถึงฝึกซ้อมการเน้นเสียง การเปลี่ยนเสียงบนกลองชุด เพื่อใช้ในการบรรเลงสนับสนุนหรือการโซโล 2) การฝึกซ้อมจังหวะสวิง อาจารย์ 3 ท่านเริ่มต้นฝึกซ้อมตีฉาบไรด์ในรูปแบบโน้ตตัวดำที่แบ่งย่อยด้วยโน้ตสามพยางค์เขบ็ตหนึ่งชั้นและเพิ่มโน้ตสามพยางค์ตัวที่ 3 ในจังหวะที่ 2 และ 4 พร้อมกับเหยียบไฮแฮทในจังหวะที่ 2 และ 4 ให้ตรงกับเครื่องจับจังหวะ ศึกษาประวัติและผลงานของศิลปิน การฟังเพลง การถอดโน้ตกลองชุดจากบทเพลงมาใช้ในการฝึกซ้อมเพื่อการสร้างสำเนียงและภาษาในการตีจังหวะสวิง และมีข้อค้นพบเพิ่มเติมคือ การฝึกควบคุมสมาธิในขณะตีกลองเพื่อแก้ปัญหาการฝึกซ้อม การใช้เสียงโน้ตแทนเสียงเมโทรนอมเพื่อ ลดความกดดัน การจำทำนองของเพลงโดย ร้อง ท่อง จำ