กันตรึมบุรีรัมย์คณะบุญถึง ตำบลโคกตาด้วง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

Main Article Content

สุดฤทัย เมอะประโคน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ใช้วิธีวิจัยตามหลักมานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicology) ในการเก็บบันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลจากงานภาคสนาม(Field Study) โดยศึกษาเฉพาะกันตรึมคณะบุญถึง ตำบลโคกตาด้วง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาชีวประวัติและผลงานนายบุญถึง ปานะโปย เจ้าของวงดนตรีพื้นบ้านกันตรึมคณะบุญถึง ตำบลโคกตาด้วง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 2) ศึกษาวิธีการสืบทอดดนตรีพื้นบ้านกันตรึมคณะบุญถึง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 3) ลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรี 4) คุณลักษณะทางดนตรี ผลการศึกษาพบว่า


1. ชีวประวัติและผลงานของ นายบุญถึง ปานะโปย พบว่า นายบุญถึง ปานะโปย เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2488 จบการศึกษาชั้น 1 (ป.1) ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 130/3 หมู่ 8 ตำบลโคกตาด้วง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แต่งงานกับนางเงิน ปานะโปย มีบุตรทั้งหมด 5 คน เป็นศิลปินด้านกันตรึมพื้นบ้าน ได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีการแบบมุขปาฐะ สืบทอดดนตรีพื้นบ้านกันตรึมมาจากบิดาซึ่งเป็นศิลปินนักดนตรีมโหรีปี่พาทย์ และผู้ก่อตั้งวงดนตรีพื้นบ้านกันตรึมคณะบุญถึง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ปี 2561 นานกว่า 40 ปี นายบุญถึง ปานะโปย เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความเมตตา ต่อผู้คนทั่วไปและลูกศิษย์ ถ่ายทอดความรู้แบบไม่หวังผลตอบแทนขอเพียงมีความตั้งใจจริง ขยันหมั่นเพียรฝึกซ้อมเท่านั้น นายบุญถึง ปานะโปย ได้รับรางวัลและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้านกันตรึมสม่ำเสมอมาเป็นเวลานาน ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านกันตรึมให้บุตรหลานและบุคคลทั่วไป มีลูกศิษย์ที่สร้างผลงานอันน่าภาคภูมิใจ และได้ฝากข้อคิดไว้ว่า "กันตรึม เป็นการแสดงพื้นบ้านเขมรที่มีดั้งเดิมโบราณนานมา อยากให้ลูกหลานรุ่นหลัง มีความภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงนี้ เพราะใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาเขมรเป็นส่วนใหญ่ในการขับร้อง ปัจจุบันก็ได้ปรับปรุงให้ทันกับความเปลี่ยนไปของยุคสมัยโดยเพิ่มเติมเนื้อร้องภาษาไทยเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ชมการแสดงมีความเข้าใจและได้รับความสนุกสนานบันเทิง อยากให้ลูกหลานรุ่นหลังร่วมกันอนุรักษ์ และเผยแพร่กันตรึม เพราะมีเพียงจังหวัดในอีสานใต้เท่านั้นที่มีการแสดงกันตรึม"


2. วิธีการสืบทอดดนตรีพื้นบ้านกันตรึมคณะบุญถึง ตำบลโคกตาด้วง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า นายบุญถึง ปานะโปย มีวิธีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะตามที่ตนได้เรียนรู้จากการบอกเล่าปากต่อปาก โดยเริ่มจากการฝากตัวเป็นศิษย์ จากนั้นจะให้ทำพิธีไหว้ครูก่อน การสอนตามวิธีที่ตนเองสืบทอดมาจากบิดาที่เคยสอนไว้เมื่อวัยเด็กนั่นเอง เน้นการอธิบาย สาธิตให้ทำตาม ฝึกซ้ำๆ ทำบ่อยๆ สอนจากง่ายไปหายากตามลำดับของเครื่องดนตรีหรือการขับร้องกันตรึมเบื้องต้น เมื่อติดขัดได้ยินเสียงที่ผิดเพี้ยนครูจะให้แก้ไขทันทีให้ถูกต้องในขณะนั้น เมื่อสอนผ่านไปสักระยะจะเริ่มให้ร่วมบรรเลงเป็นวงดนตรี และนำลูกศิษย์ไปร่วมงานแสดงในสถานการณ์จริง โดยให้ไปช่วยงาน และสังเกตการแสดงไปด้วยเพื่อให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สอนให้รู้จักลำดับขั้นตอนการแสดงดนตรีพื้นบ้านกันตรึม และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิต


3. เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นเอง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นประกอบด้วย 1) ซอกันตรึม หรือตรัวของกันตรึมคณะบุญถึง มีรูปร่างคล้ายซอด้วง ที่ใช้ประสมในวงดนตรีไทย 2) กลองกันตรึม (สะโกรหรือสะกัว) ของวงดนตรีกันตรึมพื้นบ้านคณะบุญถึงใช้ 1 ชุด มี 2 ลูก รูปร่างคล้ายโทนในวงดนตรีไทย แต่ยาวกว่า มีลูกเล็กและลูกใหญ่ ลำตัวของกลองขุดจากไม้ตะเสก (ภาษาพื้นบ้านเขมร) ทำด้วยช่างพื้นบ้าน แล้วนำมาขึงหนังหน้ากลองเอง 3) ฉิ่ง 1 คู่ 4) ฉาบ 1 คู่ และ5) กรับที่ทำจากจากไม้พยูง 1 คู่


4. คุณลักษณะทางดนตรี บทเพลงหรือทำนองเพลงที่ใช้บรรเลง มี 4 ประเภท คือ บทเพลงไหว้ครู บทเพลงขับร้องประกอบพิธีกรรม เพลงขับร้อง และบทเพลงขับร้องประยุกต์ ระบบเสียง เป็นท่วงทำนองสำเนียงเขมร คือ ระบบ 5 เสียง (Pentatonic) ทำนอง (Melody) บทเพลงกันตรึมคณะบุญถึง มีทำนองหลัก (Them) ท่อนเดียว บรรเลงซ้ำไปมา จากการวิเคราะห์พบว่า ทำนองซอกันตรึมที่บรรเลง เป็นแบบทำนอง เดียว (Monophony) มีการย้อนทำนองเดิม

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความวิจัย