แนวทางการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพที่ควรจะเป็นและสภาพที่เป็นจริงของการพัฒนาพฤตินิสัย 2)หาแนวทางพัฒนาพฤตินิสัย 3) ประเมินแนวทางพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานี การวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาสภาพที่ควรจะเป็นและสภาพที่เป็นจริง ของการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติด เครื่องมือใช้เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานีที่คดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 350 คน และการสนทนากลุ่มย่อย กลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 2 คน ผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่มีความประพฤติดี จำนวน 8 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ระยะที่ 2 การหาแนวทางการพัฒนาพฤตินิสัย โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (WORKSHOP) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อดีตผู้ต้องขังที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษ จำนวน 2 คน อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.) จำนวน 3 คน ผู้นำชุมชนหรือครอบครัวที่ดูแลผู้พ้นโทษ จำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางอุดรธานี จำนวน 5 คน บุคลากรจากหน่วยงานการศึกษา จำนวน 2 คน ตัวแทนผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่ทำหน้าที่ช่วยงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 คน รวมทั้งสิ้น 24 คน เลือกแนวทางการพัฒนาพฤตินิสัยที่ต้องการ ระยะที่ 3 การประเมินแนวทางการพัฒนาพฤตินิสัย กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกับระยะที่ 2 ใช้แบบประเมินแนวทางพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติด วิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. สภาพที่ควรจะเป็นและสภาพที่เป็นจริงของการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานี แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ (1) ด้านการจัดการศึกษา (2) ด้านการศึกษาวิชาชีพ (3) ด้านการพัฒนาจิตใจ (4) ด้านการจัดสวัสดิการและนันทนาการ ค่าเฉลี่ยความต้องการจำเป็น มีค่า PNI modified อยู่ระหว่าง 0.16-0.60 ดังนี้ ลำดับที่ 1 ด้านการจัดสวัสดิการและนันทนาการ (PNI modified = 0.60) ลำดับที่ 2 ด้านการศึกษาวิชาชีพ (PNI modified =0.46) ลำดับที่ 3 ด้านการจัดการศึกษา (PNI modified =0.28) ลำดับที่ 4 ด้านการพัฒนาจิตใจ (PNI modified =0.16)
2. แนวทางการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติด เรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้ 1) ด้านการจัดสวัสดิการและนันทนาการ คือ การเยี่ยมญาติสำหรับนักโทษชั้นเยี่ยมเป็นการเฉพาะปีละ 1 ครั้ง การจัดบรรยากาศเรือนจำให้น่าอยู่เหมือนโรงเรียนประจำ และการจัดให้มีการออกกำลังกายเล่นกีฬาทุกวัน 2) ด้านการศึกษาวิชาชีพ คือ การฝึกอาชีพตามความถนัดและความสนใจ การฝึกอาชีพเกษตรกรรมสำหรับผู้มีที่ทำกิน และการฝึกอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการ 3) ด้านการจัดการศึกษา คือ การจัดให้มีการเรียนจากโทรทัศน์เพื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดให้มีการศึกษาตามอัธยาศัย และการให้ผู้ต้องขังทุกคนเรียนให้จบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ 4) ด้านการพัฒนาจิตใจ คือ การอบรมธรรมมะโดยจัดเป็นกลุ่มตามประเภทคดี การจัดให้มีกิจกรรมเสียงตามสาย และการพัฒนาบุคลิกภาพให้รู้จักกาลเทศะ
3. การประเมินความเป็นไปได้ และความเหมาะสมแนวทางพัฒนาการพฤตินิสัยของผู้ต้องขังคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานี ด้านที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุดคือ ด้านการพัฒนาจิตใจ รองลงมาคือ ด้านการจัดการศึกษา มีความเป็นไปได้และเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมต่ำที่สุด คือ ด้านการศึกษาวิชาชีพ มีความเป็นไปได้และเหมาะสมอยู่ในระดับมาก