การเรียนรู้แบบซิปปาเสริมด้วยแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อความเข้าใจมโนทัศน์สารชีวโมเลกุลและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความเข้าใจมโนทัศน์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจโนทัศน์สารชีวโมเลกุล ศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรู้รูปแบบซิปปาเสริมด้วยแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขนาดกลางแห่งหนึ่งในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปาเสริมด้วยแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง สารชีวโมเลกุล จำนวน 7 แผน แบบวัดความเข้าใจมโนทัศน์สารชีวโมเลกุล 2 ระดับ และแบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ วิเคราะห์ ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐาน โดยการทดสอบทีแบบไม่อิสระและการทดสอบไคสแควร์แบบ McNemar ผลการวิจัยพบว่า 1) นักเรียนมีความเข้าใจมโนทัศน์สารชีวโมเลกุลหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจมโนทัศน์สารชีวโมเลกุลระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน โดยเปลี่ยนจากความเข้าใจไม่สอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ไปเป็นสอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์มากกว่าเปลี่ยนจากความเข้าใจที่สอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ไปเป็นไม่สอดคล้องกับแนวคิดวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01