การออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นกับลวดลายวัฒนธรรมเขมรในอีสาน

Main Article Content

กุลจิต เส็งนา

บทคัดย่อ





            การออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นกับลวดลายวัฒนธรรมเขมรในอีสาน จากการศึกษาและทดลองคิดค้นหาเทคนิคและวิธีการเพื่อเป็นแนวทางสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นใหม่ โดยใช้ลวดลายของวัฒนธรรมเขมรในอีสานเฉพาะที่ได้จากเทวรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงศิลปะเขมร มาเป็นข้อมูล ซึ่งผู้วิจัยได้กำหนดให้ชุมชนในพื้นที่เขตจังหวัดอุดรธานี มีส่วนร่วมให้การสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบชุดนี้ จึงได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นจำนวน 5 ชุด รวม 25 ชิ้น รูปแบบของผลิตภัณฑ์มีการใช้งานที่หลากหลาย โดยได้นำเทคนิคสมัยใหม่
บางประการมาใช้ร่วมกับวิธีการแบบเดิม จนได้เป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นแบบ 
ร่วมสมัยสอดคล้องกับแนวคิดวิธีการออกแบบจากปรัชญาตะวันตก ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่ารูปทรงและแนวคิดปรัชญาตะวันออกที่เน้นพื้นที่ว่าง และความเรียบง่ายตามปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ จากการศึกษาจึงได้ข้อสรุปผลตามวัตถุประสงค์ดังนี้


            1. การศึกษาคุณลักษณ์ของรูปแบบลวดลายจากเครื่องทรงเทวรูปของวัฒนธรรมเขมร ในภาคอีสาน พบว่าการออกแบบด้านเทคนิคในแบบเดิม คือการสกัดทำให้เกิดรูปแบบลวดลาย ผู้วิจัยจึงได้คัดลอกรูปแบบลวดลายที่ปรากฎใน 3 สมัยด้วยกันคือ ศิลปะปาปวน ศิลปะนครวัด ศิลปะบายน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนศิราภรณ์ ส่วนรัดพระองค์ และส่วนกรองคอ จากรูปทรง 3 มิติ มาสู่รูปแบบ 2 มิติ ทางด้านแนวคิดได้ใช้แรงบันดาลใจ เรื่องความเชื่อในรูปแบบลวดลายที่ปรากฎในส่วนเทวรูป เปรียบได้กับการสักการะเทพเจ้าในศาสนาพรามณ์ตามความเชื่อแบบอุดมคติ ผ่านกระบวนการออกแบบวิเคราะห์และสังเคราะห์รูปแบบลวดลายในแต่ละส่วนให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นแบบร่วมสมัยใหม่


            2. ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น คือ สิ่งสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ดังนั้นในการออกแบบจึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ได้แก่ประโยชน์ใช้สอย (Useful or Function) ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นใน
แต่ละชุด มีความแตกต่างด้านประโยชน์ใช้สอยที่ต่างกันตามลักษณะการใช้งานและรสนิยมของผู้ใช้ในแต่ละคน ความงามทางศิลปะ (Sense of Beauty) ผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นทั้ง 5 ชุดนี้ มีคุณค่าความงามทางศิลปะที่ชัดเจน เนื่องด้วยผู้วิจัยนำเอารูปแบบลวดลายในวัฒนธรรมเขมรมาใช้ในการจัดวางลงบนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นในแต่ละชิ้นลวดลาย แต่ละชิ้นมีท่วงทำนองและจังหวะที่ผสานกลมกลืนระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว 


            3. การออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นเพื่อเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มชุมชนในพื้นที่เขตจังหวัดอุดรธานี จำนวน 5 กลุ่ม 5 ชุด ผลงานทำให้ได้สื่อสารเรื่องราวข้อมูลประวัติศาสตร์ศิลปะอีสานได้อย่างชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นให้ยั่งยืนสืบไป





Article Details

บท
บทความวิจัย

References

วิรัตน์ พิชญไพบูลย์. (2527). การออกแบบเครื่องเรือนสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2533). ศิลปะขอม เล่ม 3. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

เอกชาติ จันอุไรรัตน์. (2551). สไตล์ในงานดีไซน์. กรุงเทพฯ: โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์ จำกัด.

Jessup, H. I. (2006). Masterpieces of the National Museum of Cambodia: An Introduction to Collection. Hong Kong: Orientations.