ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย

Main Article Content

เนติวรรณ ดวงศรี
เกรียงศักดิ์ โชติจรุงเกียรติ์
จีระศักดิ์ ดิษฐพลขันธ์
ธิติ เตชะไพโรจน์
จุฑามาศ นันทโพธิเดช

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาถึงความเป็นมา แนวความคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต 2) เพื่อศึกษาความเป็นมา แนวคิด และทฤษฎีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต 3) เพื่อศึกษาความเป็นมา แนวคิด และทฤษฎีปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550 และ 4) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบให้ทราบถึงปัญหาทางกฎหมายในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย กับประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนในท้องถิ่นต่อไป สำหรับการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ได้แก่ การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และสรุปผลการวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแนวทางในการสรุปเป็นข้อเสนอแนะ


จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันในสภาวะปัญหาโลกร้อน ส่วนให้เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ที่มีการสะสมของก๊าซเหล่านี้เป็นจำนวนมากจึงก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกให้มีอุณหภูมิขยับตัวเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการประกาศใช้ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (United Nations Framework Convention on Climate Change เรียกว่า “อนุสัญญา UNFCCC”) ขึ้น และมีผลใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงแก้ไขผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดกลไกของการขายกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ขึ้น ซึ่งการซื้อขายนี้เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) กล่าวคือ เป็นกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะทำในลักษณะที่ประเทศหรือผู้ผลิตรายใดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากหรือน้อยกว่าโควตาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ ประเทศหรือผู้ผลิตรายดังกล่าวก็จะสามารถทำการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตกับประเทศหรือผู้ผลิตอื่น ๆ ได้


ประเทศไทยได้มีการให้สัตยาบันในอนุสัญญา UNFCCC โดยมีผลบังคับใช้ปี พ.ศ. 2538 โดยประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มภาคผนวก 1 ที่ถูกบังคับให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนแนวทางในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกับประเทศที่อยู่ในกลุ่มภาคผนวก 1 ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตออกมาขายให้กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มภาคผนวก 1 เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ แต่ด้วยความเข้าใจ และระบบของการดำเนินในเรื่องระเบียบที่ล่าช้า จึงทำให้การเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2553). การดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กระทรวงฯ.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2553). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีสารเกียวโต. กรุงเทพฯ: กระทรวงฯ.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2553). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. กรุงเทพฯ: กระทรวงฯ.

กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ (UNFCCC). (2562). สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.eppo.go.th/index.php/th/plan-policy/climatechange/ unitednation/unfccc

บัณฑูร เศรษฐศิโรตษ์ และคณะ. (2551). การพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ด้านความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่ม 3). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

บริษัท รับเบอร์ กรีน จำกัด. (2562). “คาร์บอนเครดิต” : ธุรกิจมลพิษกู้โลกร้อน. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562, จาก http://www.rubbergreen.co.th/บทความสีเขียว/คาร์บอนเครดิต.html

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2553). แนวทางการส่งเสริมการพัฒนาโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด. กรุงเทพฯ: องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน).

วิกานดา วรรณวิเศษ. (2558). คาร์บอนเครดิต: ธุรกิจลดโลกร้อน. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สำนักวิชาการ.