การสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดสกลนครผ่านผ้าทอย้อมครามธรรมชาติ

Main Article Content

จิรภัทร เริ่มศรี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดสกลนครผ่านผ้าทอย้อมครามธรรมชาติใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (Document) และข้อมูลจากภาคสนาม (Field Study) ได้แก่ ข้อมูลจากการสำรวจ การสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม (Focus Groups) ตามกรอบแนวคิดอัตลักษณ์ โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกอำเภอที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น
ด้านการทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม และด้านการท่องเที่ยว จำนวน 12 อำเภอ โดยผู้วิจัยได้เข้าศึกษาชุมชน ใช้วิธีการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า ได้แก่ การแสวงหาความเชื่อถือได้ของข้อมูลจากแหล่งที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยได้สังเคราะห์การสื่อสารอัตลักษณ์จังหวัดสกลนครผ่านผ้าทอย้อมครามธรรมชาติออกมาเป็น 3 ด้านดังนี้


1. การสื่อสารหลักธรรมผ่านผ้าทอย้อมคราม การผลิตผ้าย้อมครามสกลนครของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดสกลนคร นำเส้นใยสีขาวมาสอดแทรกลงไปในผืนผ้า เปรียบดั่งการนำหลักธรรมะที่บริสุทธิ์มาเตือนใจ ไม่ให้เกิดความละโมบโลภมาก ให้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชุมชนที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับการย้อมผ้าครามว่า วันพระห้ามย้อมผ้าคราม คนที่เป็นรอบเดือนเข้าไปใกล้หม้อครามจะทำให้เกิดยางยืด หรือคนที่ใส่น้ำหอมก็ห้ามเข้าใกล้หม้อคราม ที่สำคัญต้องมีสมาธิ และใจเย็นในการทำผ้าทอย้อมคราม เพราะครามคือชีวิต เป็นจิตวิญญาณของคนย้อมผ้าที่นำมาทำจังหวะของสี และเส้นใย


2. การสื่อสารผ่านธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ วิถีชีวิตของคนในชุมชนมีความผูกพันกับธรรมชาติ ทั้งสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ทำให้กระบวนการผลิตผ้าย้อมครามใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการนำธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว มาสร้างสรรค์ผ่านจินตนาการสู่การสร้างลวดลายลงบนผืนผ้า โดยใช้เทคนิคการมัดหมี่ ในการสร้างลวดลาย ทุกขั้นตอนของการผลิต แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีสูตรการย้อมสีครามธรรมชาติ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของผ้าทอย้อมคราม


3. การสื่อสารผ่านวัฒนธรรมท้องถิ่น ในอดีตภูมิปัญญาผ้าทอย้อมคราม ไม่เคยได้รับการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษร การถ่ายทอดจะเป็นลักษณะการบอกเล่าผ่านการลงมือปฏิบัติ เป็นการเรียนรู้และใช้ประสบการณ์ร่วมกัน เป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม และพิธีกรรม ที่สืบทอดกันมา สะท้อนวัฒนธรรมแต่ละชุมชนผ่านเส้นใย กรรมวิธีการทำผ้าย้อมคราม และการสร้างสรรค์ลวดลายที่บ่งบอกถึงฐานะทางสังคม ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมชุมชนได้ เป็นการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์ด้วยกรรมวิธีของพื้นบ้าน ทำให้ผ้าย้อมครามสกลนครมีคุณค่าที่ปรากฏทางสายตา ทำให้ผ้าย้อมครามกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวของชุมชน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ดนัย ชาทิพฮด. (2558). ผ้าย้อมคราม : การทำวัฒนธรรมให้กลายเป็นสินค้า ในกระแสโลกาภิวัตน์. วารสารไทยศึกษา, 10(2). 87-116.

พรรณวดี ศรีขาว, ปกกสิณ ชาทิพฮด และ นิโลบล ภู่ระย้า. (2560). ลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจของผ้าย้อมคราม ในอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร. สกลนคร: มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.

พระมหาสมโภชน์ สิริปุญฺโญ (ศิลาวัชรพล), บุญส่ง สินธุ์นอก และ สมเดช นามเกตุ. (2564). การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมที่ส่งเสริมการทอผ้าไทยอีสานในเขตพื้นที่ตำบลนาข่า อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี. Journal of Modern Learning Development, 6(1), 33-42.

วัฒนะ จูฑะวิภาต. (2555). ผ้าทอกับชีวิตคนไทย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.

ศิราภรณ์ กุลจิตติวิรัช. (2555). การจัดการความรู้การทอผ้าย้อมครามบ้านโนนสะอาด ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศูนย์คราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. (2560). สีครามราชาแห่งสีย้อมธรรมชาติ. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.

สุภางค์ จันทวานิช. (2546). การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อนุรัตน์ สายทอง และ ภูวดล ศรีธเรศ. (2558). รูปแบบของผ้าย้อมครามและกระบวนการย้อมผ้าด้วยสีครามของผู้ไทในประเทศไทย สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ, 17(1), 130-137.

Hall, S. (1997). Representation: Cultural Representations and Signifying Practices. London: Sage in Association with The Open University.

Joseph, B. A. (1974). Identity, Survival & Change. General Learning Corporation.

Kathryn, W. (1997). Identity and Difference. London: SAGE Publications Ltd.

Stryker, S. (1968). Identity Salience and Role Performance. Journal of Marriage and the Family, 4, 558-564.

Stryker, S. & Burke, P.J. (2000). The Past, Present, and Future of an Identity Theory. Social Psychology Quarterly, 63(4), 284-297.