การดำรงชีพและการเมืองในชีวิตประจำวันของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอิสระ ภายใต้การกำกับของรัฐ

Main Article Content

สุนิตย์ เหมนิล
ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มุ่งศึกษาการดำรงชีพและการเมืองในชีวิตประจำวันของเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอิสระ บ้านโพนสา ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล 17 คน ผลการวิจัยพบว่า การปลูกยาสูบได้อยู่ในกำกับของรัฐอย่างเข้มงวดผ่านการขออนุญาตหลายขั้นตอน นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากตัวแสดงที่เกี่ยวข้องภายใต้ความสัมพันธ์ในเครือข่ายทางสังคมและโครงสร้างเชิงอำนาจในพื้นที่ซึ่งได้ซ่อนอยู่ในหลากหลายกิจกรรม อันประกอบไปด้วย หน่วยงานรัฐด้านสรรพสามิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้รับซื้อยาสูบ ผู้ให้กู้ยืมเงิน ผู้ให้เช่าที่ดิน โดยตัวแสดงเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อการดำรงชีพและการเมืองในชีวิตประจำวันของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรต้องดำรงอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความท้าทาย อย่างไรก็ตามเนื่องจากเกษตรกรมีทรัพยากรในการดำรงชีพและยุทธศาสตร์ในการดำรงชีพที่หลากหลาย ทำให้เกษตรกรสามารถข้ามผ่านแรงกดดันและความท้าทายบางอย่างได้


            ทั้งนี้ ถึงแม้เกษตรกรจะอยู่ภายใต้โครงสร้างเชิงอำนาจ แต่เกษตรกรก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน เกษตรกรได้แสดงพฤติกรรมต่ออำนาจที่เหนือกว่า ทั้งการบ่ายเบี่ยงและการหน่วงเหนี่ยวเวลา การฉวยใช้ประโยชน์ การนินทาและการให้ฉายา การต่อรองและแสวงหาทางเลือกที่หลากหลาย พฤติกรรมที่แสดงออกในลักษณะดังกล่าว ได้ช่วยส่งเสริมให้การดำรงชีพบรรลุผลได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่วิจัยรัฐได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนยาสูบ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่สอดคล้องกับทรัพยากรและยุทธศาสตร์ในการดำรงชีพของเกษตรกร ดังนั้น ภายใต้การกำกับ แรงกดดัน และความท้าทายที่เกษตรกรต้องเผชิญนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เกษตรกรยังคงดื้อดึงปลูกยาสูบคือ 1) ความสอดคล้องกับทรัพยากรและยุทธศาสตร์ในการดำรงชีพ และ 2) การที่รัฐประสบความล้มเหลวในการส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

สุนิตย์ เหมนิล, วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

-

References

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. (2561). เขตการใช้ที่ดินพืชเศรษฐกิจยาสูบ. กรุงเทพฯ: กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

จักรกริช สังขมณี. (2555). ชุมชนแห่งนั้นชื่อปรารถนา: วัฒนธรรมการเมืองในชีวิตประจำวันกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในการพัฒนาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์. (2556). การเมืองว่าด้วยเรื่องพืชพลังงานและความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตร: ศึกษากรณีการปลูกอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รายงานการวิจัย). มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์. (2557). การเมืองในชีวิตประจำวันของครัวเรือนอีสาน ภายใต้บริบทของการปลูกอ้อยในฐานะพืชพลังงาน. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง, 10(3), 1-23.

นิธิมา เนื่องจำนงค์ และ ทรงชัย ทองปาน. (2562). “จากนาข้าวเป็นสวนยางพารา”: การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพ และความมั่นคงทางอาหารของครัวเรือนชาวนาริมแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 10(1), 10-41.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2554). มโนทัศน์การดำรงชีพ. เชียงใหม่: พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์.

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560. (2560, 20 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 134 ตอนที่ 32 ก, หน้า 1-47.

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509. (2509, 27 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 83 ตอนที่ 117, หน้า 963-986.

ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ. (2562). “บุหรี่” คือ “ฆาตกร”?. วารสารก้าวทันวิจัยกับ ศจย, 11(2), 1-35.

Food and Agriculture Organization of the United Nations. (n.d.). Agrobiodiversity management from a sustainable livelihoods' perspective. Retrieved October 12, 2023, from https://www.fao.org/3/y5956e/Y5956E04.htm