ความคิดเห็นและความพึงพอใจขององค์กรสมาชิกที่มีต่อการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค
คำสำคัญ:
ความคิดเห็นและความพึงพอใจ, การดำเนินงาน, ผู้แทนองค์กรสมาชิก, สภาองค์กรของผู้บริโภคบทคัดย่อ
การวิจัย “ความคิดเห็นและความพึงพอใจขององค์กรสมาชิกที่มีต่อการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็น ประเมินความพึงพอใจ และรวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้แทนขององค์กรสมาชิก ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีต่อการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค ในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้รูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อถอดบทเรียนเชิงประสบการณ์ และใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจของผู้แทนองค์กรสมาชิกในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีต่อการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค
ผลวิจัย พบว่า 1) ข้อมูลทั่วไปของผู้แทนองค์กรสมาชิกในเขตกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมประชุมส่วนมากเป็นกลุ่ม “ผู้สูงอายุ” ปลอดจากภาระหน้าที่ด้านการทำงานประจำ ประกอบกับมีประสบการณ์ในการทำงานในลักษณะเครือข่ายขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน ทำให้มีเวลาและความชำนาญในการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่
2) ด้านการรู้จักและความเชื่อมั่นในหน่วยงาน/องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนองค์กรสมาชิกในเขตกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมประชุมมีระดับการรู้จักเกี่ยวกับหน่วยงาน รู้จักคน/เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับเรื่องร้องเรียน รู้วิธีและขั้นตอนในการร้องเรียน และรู้ช่องทางในการร้องเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสมาชิกฯ ที่ผ่านการทำงานร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค สามารถดำเนินงานพื้นฐานด้านการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกละเมิดหรือถูกเอาเปรียบจากการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการได้
3) ด้านความคิดเห็น/พึงพอใจและความคาดหวังต่อบทบาทตามภารกิจของสภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคควรเพิ่มบทบาทในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ การดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกเกี่ยวกับข้อพิพาทในการละเมิดสิทธิในชั้นศาล และการดำเนินคดีหรือช่วยเหลือในการฟ้องคดีแก่ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิให้มากขึ้น
References
จรัส สุวรรณมาลา. (2539). ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมท้องถิ่นในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สภาองค์กรของผู้บริโภค. (2562). ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค. www.tcc.or.th
สุนีย์ มัลลิกะมาลย์. (2545). รัฐธรรมนูญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิทักษ์รักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สำนักพิมพ์วิญญูชน.
Gerson, R. F. (1993). Measuring customer satisfaction. London: Kogan Page.
Grönroos, C. (1984), “A Service Quality Model and its Marketing Implications”, European Journal of Marketing, Vol.18(4), pp.36-44.
Kotler, P. (2003). Marketing management. (11th ed.). Upper Saddles River, NJ: Prentice-Hall.
McKinsey Quarterly. (2008). Enduring Ideas: The 7-S Framework. https://www.mckinsey.com/capabilities/strategy-and-corporate-finance/our-insights/enduring-ideas-the-7-s-framework
SOM-Lafrenière. (2018). The State of Customer Experience, Spring.