การพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากเส้นใยพืชในท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว ต.ห้วยแร้ง อ.เมือง จ.ตราด

ผู้แต่ง

  • ณภัค แสงจันทร์ คณะอัญมณีศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  • จุฑาทิพย์ นามวงษ์ คณะอัญมณีศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  • ธนกฤต ใจสุดา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์, การแปรรูปกระดาษ, เส้นใยพืช

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ ใช้รูปแบบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาฐานทรัพยากรชีวภาพพืชในท้องถิ่นที่สามารถนำเส้นใยมาแปรรูปได้ 2) เพื่อต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการแปรรูปเส้นใยจากพืชท้องถิ่นแก่ชุมชน และ 3) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนจากการแปรรูปเส้นใยในท้องถิ่นโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน การดำเนินงานวิจัย ในขั้นแรกทำการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลพืชในชุมชนที่สามารถนำเส้นใยมาแปรรูปได้ จากนั้นทำการทดลองผลิตกระดาษจากเส้นใยพืชในชุมชนพร้อมทั้งทำการคัดเลือกกระดาษที่เหมาะสำหรับนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชุมชน สุดท้ายทำการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชุมชนจากกระดาษที่ได้คัดเลือกไว้ และทำการคัดเลือกแบบร่างพร้อมทั้งประเมินความพึงพอใจต่อบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ จำนวน 15 คน โดยการคัดเลือกอย่างเจาะจง ใช้มาตรวัดแบบ Likert Scale ในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการวิจัยสรุปผลได้ดังนี้ จากการสำรวจพืชในชุมชน พบว่า พืชที่สามารถนำเส้นใยมาแปรรูปกระดาษได้มี 7 ชนิด คือ กล้วยไข่, กล้วยน้ำว้า, จาก, หมาก, มะพร้าว, สับปะรด และปอทะเล พืชทั้ง 7 ชนิดนำไปทดลองแปรรูปเป็นกระดาษ โดยอ้างอิงวิธีการแปรรูปจากกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษจากปอสา พบว่า จาก เป็นพืชที่มีความเหมาะสมที่จะนำมาผลิตเป็นบรรจภัณฑ์สินค้าชุมชน เพราะมีความเหนียวไม่ขาดง่าย พับขึ้นรูปได้ง่าย และมีสีโดยธรรมชาติที่สวยงาม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน พบว่า  ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกที่จะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ สบู่ น้ำมันเหลือง และถุงใส่สินค้า ทำการออกแบบร่างบรรจุภัณฑ์ให้แก่สินค้าแต่ละชนิดจำนวน 4 แบบร่าง โดยมีแนวทางในการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน คือ 1) ผลิตง่ายไม่ยุ่งยากชุมชนสามารถผลิตเองได้ 2) รูปแบบสวยงาม 3) แสดงอัตลักษณ์ชุมชนได้ และ 4) เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้คงสภาพได้ ผลการคัดเลือกและประเมินความพึงพอใจบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน พบว่า แบบร่างบรรจุภัณฑ์สบู่ที่มีคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ แบบที่ 4 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.32 อยู่ในระดับดี แบบร่างบรรจุภัณฑ์น้ำมันเหลือง ที่มีคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ แบบที่ 1 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.40 อยู่ในระดับดี และแบบร่างถุงใส่สินค้า ที่มีคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ แบบที่ 3 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.41 อยู่ในระดับดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-29