การเปิดรับสื่อของผู้ฟังเจเนอเรชันวาย ที่มีต่อองค์ประกอบการสื่อสารของพอดแคสต์

ผู้แต่ง

  • อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • รัตนวดี เศรษฐจิตร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

พอดแคสต์, การเปิดรับสื่อ, ความคิดเห็น, องค์ประกอบรายการพอดแคสต์, เจเนอเรชันวาย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับสื่อพอดแคสต์และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์ของกลุ่ม เจเนอเรชันวาย (2) เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบรูปแบบรายการที่ส่งผลต่อการเปิดรับสื่อพอดแคสต์ของกลุ่ม เจเนอเรชันวาย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพียงครั้งเดียว (Cross-sectional Study) จากกลุ่ม เจเนอเรชันวาย ที่มีอายุ 22–39 ปี อาศัยอยู่ในประเทศไทย และฟังรายการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีพอดแคสต์เป็นประจำ โดยเก็บแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ จำนวน 400 ชุด

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและเพศหญิงจำนวนใกล้เคียงกัน สถานะโสด ส่วนใหญ่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท และเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีเป้าหมายในการประกอบธุรกิจ โดยเฉลี่ยเปิดรับสื่อพอดแคสต์ 1-2 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 41 นาที ส่วนใหญ่เปิดรับฟังจากบ้าน รองลงมาคือ บนยานพาหนะขณะกำลังเดินทาง ในแง่การปฏิสัมพันธ์กับรายการพอดแคสต์พบว่า จะกดไลก์ (Like) โดยจะเปิดรับฟังผ่านแอปพลิเคชัน Spotify มากที่สุด รองลงมาคือ Google Podcasts และ Soundcloud ทั้งนี้ เหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดรับสื่อพอดแคสต์ เนื่องจากติดตามความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น รองลงมาคือ เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในการทำธุรกิจสร้างสรรค์ และเพื่อความบันเทิง/ พักผ่อน / ผ่อนคลาย

ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบรูปแบบรายการที่ส่งผลต่อการเปิดรับสื่อพอดแคสต์พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบรูปแบบรายการภาพรวมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย 4.03 โดยเห็นด้วยมากในด้านรูปแบบและเนื้อหา (4.08) รองลงมาคือ เห็นด้วยมากด้านผู้ส่งสาร  (4.06) และเห็นด้วยมากด้านช่องทางการสื่อสาร (3.94) ตามลำดับ ทั้งนี้ด้านผู้ส่งสาร พบว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยมากเกี่ยวกับลีลา น้ำเสียง อารมณ์ของผู้ดำเนินรายการ ขณะที่ด้านเนื้อหากลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยมากที่สุดเกี่ยวกับเนื้อหาตรงกับความต้องการ และด้านช่องทางการสื่อสาร กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยมากที่สุดเกี่ยวกับการสามารถติดตามรายการย้อนหลังได้ง่ายและสะดวก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-29