แนวทางการพัฒนารูปแบบงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทยและทิศทางการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย

ผู้แต่ง

  • รินบุญ นุชน้อมบุญ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คำสำคัญ:

เครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง, การออกแบบเครื่องแต่งกายในงานภาพยนตร์และสื่อ, เครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทย, นักออกแบบเครื่องแต่งกาย, บุคคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย

บทคัดย่อ

งานวิจัย เรื่อง แนวทางการพัฒนารูปแบบงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทย และทิศทางการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Methods Research) ด้วยวิธีวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนารูปแบบงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทย โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และเพื่อศึกษาวิเคราะห์ทิศทางการในการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย โดยวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า ส่วนที่ 1 : การวิเคราะห์ภาพงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทย โดยงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทยที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 5 ประเภท ซึ่งพิจารณาจากผลงานที่ได้รับรางวัลและมีชื่อเสียงรวมทั้งได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ในด้านการออกแบบและนำเสนอ – โครงสร้าง พบว่ามีการใช้โครงสร้างที่อ้างอิงกับยุคสมัยและพัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ภายใต้ความเป็นไทย ทั้งในรูปแบบเครื่องแต่งกายย้อนอดีต  เครื่องแต่งกายกับบริบทของภูมิภาคท้องถิ่น และเครื่องแต่งกายกับการแสดงเชิงนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ด้านการออกแบบและนำเสนอ – สีสัน พบว่า มีการใช้สีสันที่เชื่อมโยงกับยุคสมัยในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย ร่วมกับการใช้สีสันที่สัมพันธ์กับบุคลิกลักษณะของตัวละคร และการใช้สีเชิงสัญลักษณ์ในการสื่อความหมายกับความเป็นไทย ด้านการออกแบบและการนำเสนอ - การเลือกใช้ผ้า องค์ประกอบของการตกแต่งและเครื่องประดับ พบว่า มีการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงข้อมูลจากยุคสมัยของความเป็นไทยในอดีต เพื่อนำมาเลือกใช้ภายใต้การเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการเทคโนโลยีในการผลิตสร้างสรรค์เรื่องดังกล่าวอย่างร่วมสมัยในปัจจุบัน  ส่วนที่ 2 : การใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 22 คน โดยในส่วนของทัศนะจากกลุ่มผู้สร้างงานด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย และกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย และงานด้านการออกแบบเพื่อการแสดงทั้งหมด มีทัศนะความคิดเห็นสอดคล้องกัน ในด้านวิชาการ - การศึกษา – (การค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูล) พบว่า มีความจำเป็นและควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาค้นคว้าในด้านประวัติศาสตร์ ที่มา รวมทั้งรากฐานของเครื่องแต่งกายกับความเป็นไทย ในด้านการออกแบบและนำเสนอ – โครงสร้าง : พบว่า ควรให้ความสำคัญกับที่มา รวมทั้งบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเครื่องแต่งกายและภาพลักษณ์ความเป็นไทย รวมถึงควรพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ประกอบกับการให้ความสำคัญต่อความต้องการของผู้เสพร่วมด้วย       

ในด้านการออกแบบและนำเสนอ – สีสัน พบว่า มีการใช้สีสันที่มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าอดีต ร่วมกับสีที่มีการสื่อสารโดยเชื่อมโยงในรูปแบบสัญญะกับความเป็นไทย ด้านการออกแบบและการนำเสนอ – การเลือกใช้ผ้า องค์ประกอบของการตกแต่งและเครื่องประดับ พบว่า มีการอ้างอิงต่อยุคสมัยหรือที่มาร่วมกับการผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่วนในประเด็นทัศนะความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานออกแบบเครื่องแต่งกายกับภาพลักษณ์ความเป็นไทย การยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง – ด้านวิชาการ / การศึกษา (โครงสร้าง, สีสัน, ลวดลาย) พบว่า บุคลากรควรให้ความสำคัญและมีความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ ควรจะต้องมีความรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าทันต่อยุคสมัย ในประเด็นการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง – ด้านวิชาชีพ พบว่า ควรจะต้องมีใจรักในงาน ควรมีความใส่ใจในเรื่องรายละเอียดในทุกกระบวนการกับการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงาน โดยกลุ่มนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและงานด้านการออกแบบเพื่อการแสดง มีทัศนะข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ในเรื่องของการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาตนอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง และวิชาชีพของตน  ส่วนที่ 3 : การใช้แบบสอบถาม โดยศึกษาทัศนะของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย ได้แก่ ผู้ประกอบการด้านเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดง นักออกแบบเครื่องแต่งกาย นักออกแบบการแต่งหน้าและทรงผมในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในธุรกิจบันเทิงไทย และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทยอื่นๆ ได้แก่ ผู้กำกับการแสดงและนักแสดง จำนวนทั้งสิ้น 84 คน ในการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง - ด้านวิชาการ / การศึกษา (โครงสร้าง, สีสัน, ลวดลาย) พบว่า ประเด็นการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ในด้านผ้าและลวดลายในเชิงประวัติศาสตร์กับภาพลักษณ์ความเป็นไทย มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 4.37 ส่วนในด้านการยกระดับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง - ด้านวิชาชีพ พบว่า การส่งเสริมและพัฒนาสร้างสรรค์งานออกแบบด้วยการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และมีจรรณยาบรรณในวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 4.73 

References

กาญจนา แก้วเทพ. (2553). แนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.
คณะอนุกรรมการแต่งกายไทย : วิวัฒนาการและเอกลักษณ์ประจำชาติ สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ. (2543). การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง.
นันทินี สันติธรรม. (2560). การนำเสนอภาพของศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านละครโทรทัศน์. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิชาการจัดการการสื่อสารองค์กร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา. (2552). ศิลปะแขนงที่เจ็ด : เพื่อวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : พับลิคบุเคอรี.
พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ. (2544). การศึกษาทัศนะต่อลักษณะอันพึงประสงค์ของนักแสดงและผู้กำกับการแสดง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2551). ทฤษฏีและการวิจารณ์ภาพยนตร์. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สมสุข หินวิมาน. (2559). ทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมศึกษา:ประมวลสาระและแนวการศึกษาชุดวิชาปรัชญา นิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
สุเทพ สุนทรเภสัช. (2552). ทฤษฎีมานุษยวิทยา พัฒนาการมโนทัศน์พื้นฐานและทฤษฎีทางสังคมวัฒนธรรม (ภาคแรก). กรุงเทพฯ : ดวงกลมพับลิชชิ่ง.
Richard LaMotte. (2010). Costume Design 101 - 2nd edition: The Business and Art of Creating Costumes For Film and Television. USA. : Michael Wiese Productions.
Vincent Lobrutto. (2002). The Filmmaker's Guide to Production Design. USA. : Allworth Press.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-06-28