การออกแบบกราฟิกด้วยกลไกปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรณีศึกษา : ของที่ระลึกประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ผู้แต่ง

  • ขวัญใจ สุขก้อน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • เศรษฐกาล โปร่งนุช คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • จิติมา เสือทอง คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • สุภัทรา ลูกรักษ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

คำสำคัญ:

การออกแบบกราฟิก, กลไกปัญญาประดิษฐ์, เศรษฐกิจสร้างสรรค์

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง การออกแบบกราฟิกด้วยกลไกปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรณีศึกษา : ของที่ระลึกประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ ตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและหาแนวทางการออกแบบกราฟิกด้วยกลไกปัญญาประดิษฐ์สำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงครามนั้น มีศักยภาพในด้านของวัฒนธรรมที่สามารถนำมาประยุกต์เป็นความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบและผลิตสินค้า แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยังขาดความคิดสร้างสรรค์และองค์ความรู้ในด้านการออกแบบ ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงมุ่นเน้นการเพิ่มศักยภาพในการออกแบบกราฟิกบนผลิตภัณฑ์ โดยการใช้นวัตกรรมประเภทปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้มรดกทางวัฒนธรรมมาออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแบบผสม ดำเนินการวิจัยโดยการเก็บข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม รวมไปถึงการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์คนในพื้นที่เพื่อสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ให้ได้ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมาจัดการกับวัฒนธรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากการลงพื้นที่สำรวจมรดกทางวัฒนธรรมประเภทโบราณสถานอำเภออัมพวาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีทั้งหมด 6 ที่ พบว่า วัดบางกะพ้อม เป็นโบราณสถานที่มีความหลากหลายในด้านของศิลปะ โครงสร้างและลวดลาย ที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ลวดลายต่าง ๆ เพื่อใช้นำไปเป็นข้อมูล (Data) สำหรับสร้างกลไกปัญญาประดิษฐ์ ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ลวดลายจากภาพเขียนและปูนปั้นของวิหารพระพุทธบาทจำลองวัดบางกะพ้อมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น พบว่าลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) ลายดอกโบตั๋น 2) ลายดอกเฟื่องอุบะ 3) ลวดลายแบบอิทธิพลจีน 4) ลวดลายของรอยพระพุทธบาทจำลอง ซ้อนกันเป็นวงกลมลดหลั่นกัน 5) หลังคาเป็นทรงปีกนกมุงกระเบื้องดินเผาลายเกล็ดปลา จากนั้นผู้วิจัยได้นำลวดลายที่วิเคราะห์นำมาออกแบบและตัดทอนเพื่อสร้างลวดลายที่สื่อเอกลักษณ์ได้ทั้งหมด 5 ลวดลาย สำหรับนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบกลไกปัญญาประดิษฐ์ ด้วยวิธีการสร้างอัลกอริทึมโดยมีการเข้ารหัสโครโมโซม เพื่อการประมวลผลให้กลไกประดิษฐ์ทำการสุ่มลวดลายจากฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นมาจากข้อมูลด้านหลักการออกแบบ 1) หลักการจัดวาง 2) คู่สี จากการประเมินผลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลไกปัญญาประดิษฐ์จากผู้ใช้งาน (User) ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน พบว่าทัศนคติและความคิดเห็นที่มีต่อการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) พบว่าการใช้งานผลงานต้นแบบเกี่ยวกับรูปแบบการใช้งานง่ายในระดับดีมากที่ค่าเฉลี่ย 3.8 (S.D. 0.6) รูปลักษณ์ของส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ (GUI) ผลการประเมินในระดับดีมาก ที่ค่าเฉลี่ย 4.3 (S.D. 0.7) ส่วนความคิดเห็นต่อลวดลายกราฟิกที่ออกแบบด้วยกลไกปัญญาประดิษฐ์พบว่า รูปแบบของลวดลายกราฟิกที่มีเอกลักษณ์ ผลการประเมินในระดับดีมากที่สุด ที่ค่าเฉลี่ย 4.5 (S.D. 0.7) การใช้สีมีความเหมาะสม สวยงาม ผลการประเมินในระดับดีมาก ที่ค่าเฉลี่ย 4.4 (S.D. 0.7) ด้านทัศนคติและความคิดเห็นต่อตัวผลิตภัณฑ์พบว่า รูปแบบของลวดลายที่ออกแบบโดยปัญญาประดิษฐ์มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ ผลการประเมินในระดับดีมาก ที่ค่าเฉลี่ย 4.0  (S.D. 0.7) สามารถสร้างการจดจำและความประทับใจ ผลการประเมินในระดับดีมาก ที่ค่าเฉลี่ย 3.8  (S.D. 0.6)

References

กมลทิพย์ กันตะเพ็ง. (2560). พลวัตผู้ประกอบการในตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม: การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีฐานราก. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. 12(1), 81-101.

เกวลี บุญเทียน. (2563). การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อรองรับ AEC: กรณีศึกษาอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม. วารสารพุทธอาเซียนศึกษา. 5(1), 94.

ขวัญใจ สุขก้อน. (2562). การออกแบบเรขศิลป์เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าเปรียบเทียบซื้อสำหรับผู้บริโภคแมสทีจ วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ออนไลน์.

จักรพันธ์ ไชยวงศ์, เทพฤทธิ์ ธงเนาว์, ภาณุมาส ใสสุข, เศรษฐกาล โปร่งนุช และณรงค์ ณรงค์รัตน์. (2562). รายงานสืบเนื่องจากการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การศึกษาการจัดสรรงานประสิทธิภาพสูงด้วยฮิวรีสติกอัลกอริทึมสำหรับระบบการเชื่อมต่อของสรรพสิ่ง. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

ชัยณรงค์ วิรุฬพัฒน์. (2554). ภาพปูนปั้นบนฝาผนังในพระวิหารวัดบางกะพ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2564). เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564, จาก https://www.prachachat.net/csr-hr/news-604476.

เศรษฐกาล โปร่งนุช. (2562). การออกแบบการประมวลผลข้อมูลบนระบบที่มีตัวประมวลผลหลายชนิด วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2549). รายงานประจำปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2554). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบ พ.ศ.2550-2554. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

เสาวภา ไพทยวัฒน์. (2555). การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพ: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

Hawkins, J. (2002). The Creative Economy. How People Make Money from Ideas. London: Penguin Books.

Kobayashi, S. (1991). 1925 - Color image scale. NY: Kodansha America.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-31