ประสิทธิผลการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษา เทศบาลเมืองลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
คำสำคัญ:
การสื่อสารออนไลน์และออฟไลน์, กลยุทธ์สื่อสังคมออนไลน์, การประชาสัมพันธ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 2. เพื่อศึกษาประสิทธิผลการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับการประชาสัมพันธ์ 3. เพื่อศึกษาจุดเด่นและจุดด้อยจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์กับงานประชาสัมพันธ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก (In-depth interview) และการสนทนากลุ่ม คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน 10 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ เด็ก และการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร (Document) ที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลเมืองลำพูน
ผลการวิจัย พบว่ากระบวนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในแต่ละแผนงานจะมีกิจกรรมทางการประชาสัมพันธ์มากมายเกิดขึ้น ทั้งในรูปแบบออนไลน์และรูปแบบออฟไลน์ เป็นการบอกกล่าวถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทางเทศบาลที่ต้องการจะสื่อสารออกไปยังกลุ่มคนในชุมชน การเลือกใช้สื่อจึงจำเป็นต้องเลือกให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายของแผนงานมากที่สุด อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีของสื่อใหม่ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันมีจำนวนมากมายและหลากหลาย รูปแบบของสื่อจึงหลากหลายตามไปด้วย ทางเทศบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทางเทศบาลต้องการจะสื่อสารออกไป การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และออฟไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการในการดำเนินงานที่สำคัญ
ประสิทธิผลการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ การนำสื่อสังคมออนไลน์มาใช้กับงานประชาสัมพันธ์ของเทศบาลเมืองลำพูน พบว่า ยังขาดการวางแผนการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ การที่ผู้ส่งสาร ส่งสารออกไป ซึ่งไม่ได้กำหนดช่วงเวลาและช่วงวัยที่เหมาะสมกับผู้รับสาร การกำหนดกลุ่มเป้าหมายไม่ชัดเจน การขาดความต่อเนื่อง มีรูปแบบของเนื้อหาสาระและภาษาที่เป็นทางการจนเกินไปเข้าใจได้ยาก นอกจากนี้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเล็กๆ แต่ถึงกระนั้น ประชาชนภายในพื้นที่ ได้รับข่าวสารได้รวดเร็วมากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ เพราะทุกคนในพื้นที่สามารถติดตามข่าวสารและภาพกิจกรรม รวมถึงการให้บริการต่างๆที่ทางเทศบาลได้ประกาศผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ไลน์ เว็บไซต์ ในกรณีซึ่งกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต การประชาสัมพันธ์แบบออนไลน์อย่างเดียวจึงไม่สามารถทำได้ เทศบาลได้ทำการแก้ไขปัญหาโดยการใช้สื่อแบบออฟไลน์เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การดำเนินภารกิจจัดทำบริการสาธารณะ ในการลงพื้นที่ให้บริการประชาชน การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ให้กับคนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์ และการประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย
จุดเด่นจุดด้อยและกลยุทธ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ พบว่าเทศบาลเมืองได้ใช้การวิเคราะห์ SWOT เพราะมองว่าครอบคลุมขอบเขตของปัจจัยที่กว้างด้วยการระบุ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคขององค์กร โดยภายใต้การวิเคราะห์ SWOT ได้มีการวิเคราะห์ทางสภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก รวมถึงได้มีการกำหนดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ โดยแบ่งกลยุทธ์เป็น 4R เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของงานประชาสัมพันธ์เพื่อตอบสนองนโยบายการดำเนินงานของทางเทศบาล
References
จรัส สุวรรณมาลา. (2558). การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นบนเส้นทางการกระจายอำนาจของไทย. สถาบันพระปกเกล้า.
ฐะนุพงศ์ ศรีกาฬสินธุ์ และฉัตรเมือง เผ่ามานะเจริญ. (2564). การพัฒนาสื่อดิจิทัลในการประชาสัมพันธ์การตลาดของธุรกิจชุมชน กรณีชุมชนหินตั้ง-บ้านดง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม. 17(1), 19-20.
พรนภัส ประดับกูล. (2561). การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)กรณีศึกษา เพจเฟซบุ๊ก AOT Official. (การค้นคว้าอิสระวารสารศาสตรบัณฑิต, วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์. (2562). สื่อสารยุคดิจิทัลสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. สถาบันพระปกเกล้า.
วิภัคฉณัฏฐ์ นิมิตพันธ์ และ ศิริจันทรา พลกนิษฐ. (2559). กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ภายใต้สื่อสังคมออนไลน์. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 6(1), 21-31.
สิริรัตน์ ยอดมงคล. (2562). การบริหารสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (การค้นคว้าอิสระวารสารศาสตรบัณฑิต, วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2024 วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทุกบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ