การบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนคลองบางพระหลวง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

Main Article Content

พระมหานพรัตน์ เตชวชิโร (เปี่ยมเพ็ชร)

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  1) เพื่อศึกษาความเป็นมาและวิถีชีวิตชุมชนคลองบางพระหลวงอำเภอเมืองนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาเฉพาะเรื่องนิเวศวัฒนธรรมของคนในชุมชนคลองบางพระหลวง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และ 3) เพื่อศึกษาแนวโน้มและทิศทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนคลองบางพระหลวง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)โดยเป็นการวิเคราะห์เอกสาร (Documentary Analysis) ศึกษาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของชุมชนคลองบางพระหลวง  และการศึกษาข้อมูลภาคสนามสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 17 รูป/คน


ผลการวิจัยพบว่า


  1. ความเป็นมาและวิถีชีวิตชุมชนคลองบางพระหลวงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ อยู่กันมาหลายชั่วอายุคนจึงมีลักษณะความเป็นเครือญาติ โดยชาวบ้านพึ่งพาอาศัยกัน อดีตที่ผ่านมา ชาวบ้านชุมชนคลองบางพระหลวงนั้นชาวบ้านจะอาศัยอยู่ในแพเป็นหลัก เนื่องจากในสมัยก่อนชาวบ้านที่อาศัยบนเรือนแพส่วนมากยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองชาวบ้านส่วนมากจะประกอบอาชีพเลี้ยงปลาขาย ทำการเกษตรเป็นส่วนน้อย ในปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเรือนแพส่วนมากได้อพยพย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอยู่บนพื้นที่ทำกินของตัวเอง จึงเหลือชาวแพเพียงบางส่วนและจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่มตลอดแนวคลองบางพระหลวงโดยชาวบ้านชุมชนคลองบางพระหลวงจะประกอบอาชีพทำการเกษตร และการประกอบอาชีพทำการประมงเลี้ยงปลา นอกจากจะเลี้ยงปลาในกระชังแล้ว ชาวเรือนแพก็ยังจับปลาจากคลองบางพระหลวง หรือแหล่งน้ำอื่น ๆ มาแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม แล้วนำไปขายในตลาด ซึ่งเป็นรายได้ให้กับครอบครัว

  2. ทิศทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนคลองบางพระหลวง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

2.1 การวางแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม (Planning) การวางแผนการท่องเที่ยวนั้นต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว  ดังนั้นสมาชิกในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด การวางแผน การทำกิจกรรมและกำหนดทิศทางนโยบายการบริหารการจัดการ การประสานงานต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความเท่าเทียมกัน มีความเป็นธรรม และจะต้องส่งผลกระทบในเชิงสร้างสรรค์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมทั้งนี้ต้องไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบ


2.2 การจัดองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยว (Organization) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนคลองบางพระหลวง ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมเกิดประโยชน์กลับคืนสู่ธรรมชาติเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นทั้งทางตรงและทางอ้อมและกำหนดทิศทางการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีความเหมาะสมสำหรับใช้เป็นกรอบและแนวทางในการบริหารการท่องเที่ยว


2.3 การจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว (Staffing) การจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนคลองบางพระหลวง จำเป็นต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโดยส่งเสริมให้ประชากรในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวและร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวพัฒนาอย่างเป็นระบบ


2.4 การจัดทำนโยบายการจัดการท่องเที่ยว (Directing) การท่องเที่ยวในชุมชนคลองบางพระหลวงนั้นจะต้องมีการกำหนดแผนงาน วางนโยบายการจัดการท่องเที่ยวที่มาจากข้อตกลงร่วมกันภายในชุมชน  เช่น ความสะอาด ความปลอดภัย การกระจายรายได้ที่เป็นธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาร่วมกันถึงขีดความสามารถในการรองรับ และมีการจัดทำโครงการเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้เกิดการดำเนินการพัฒนาตามกรอบนโยบายวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้วางไว้โดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รวบรวมไว้ให้เป็นประโยชน์


2.5 การติดตาม ประเมินผลการจัดการท่องเที่ยว (Controlling) มีการประเมินผลการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการ การแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงแผนอย่างเป็นขั้นตอน มีการใช้กฎหมายในการควบคุมดูแล และรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการแนะนำ ตักเตือน และการสร้างวินัยการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2560). สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.tat.or.th/ [21พฤษภาคม].

2. ดลใจ มณีงาม. (2550). “พฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้มาเที่ยวที่มีต่อการบริหารจัดการสถานที่ทองเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา”.วิทยานิพนธ์บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

3. พระมหาธัชธร สิริมงฺคโล (มาตรา). (2556). “การจัดการการท่องเที่ยวเชิงพุทธของวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น”. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต.บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

4. สฤษฏ์ แสงอรัญ. (2560). การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศ (Ecotourism). [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://www.dnp.go.th/park/sara/tour/eco.htm (21 ตุลาคม).

5. สัมภาษณ์ นายเทพพร ราชกิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางพระหลวง. 6 กุมภาพันธ์ 2560.