การประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของพุทธบริษัทตามหลักพุทธธรรม

Main Article Content

เจ้าอธิการ สมพงษ์ สุจิตฺโต (ธนะคูณ)

บทคัดย่อ

งานวิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับจิตสาธารณะ 2) ศึกษาหลักธรรมในการประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของพุทธบริษัท และ 3) วิเคราะห์การประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของพุทธบริษัท  โดยใช้รูปแบบการวิจัยคุณภาพ (Qualitative Research) ข้อมูลได้จากเอกสารเป็นหลักคือ ข้อมูลปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และข้อมูลทุติยภูมิ จากหนังสือ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต บทความวิชาการ เอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า


  1. จิตสาธารณะเป็นความตระหนักของบุคคลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทำให้เกิดความรู้สึกปรารถนาที่จะช่วยเหลือสังคมต้องการเข้าไปแก้วิกฤตการณ์โดยรับรู้ถึงสิทธิควบคู่ไปกับหน้าที่และความรับผิดชอบสำนึกถึงพลังของตนว่าสามารถร่วมแก้ไขปัญหาได้และลงมือกระทำแนวทางในการประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของคนในสังคมจะเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้องการปลูกฝังอบรมการฝึกปฏิบัติการได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆโน้มน้าวใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล ดังนั้นสถาบันทางสังคมหลายภาคส่วนได้แก่สถาบันครอบครัวสถาบันการศึกษาสถาบันศาสนาและสถาบันสื่อมวลชนจึงต้องเข้ามาร่วมมือกันสร้างจิตสาธารณะของคนในสังคม

  2. หลักธรรมในการประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของพุทธบริษัท เช่น หลักพรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมประจำใจเพื่อให้ตนดำรงชีวิตได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์เฉกเช่นพรหม เป็นแนวธรรมปฏิบัติของผู้ปกครอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลักสังคหวัตถุ 4 เป็นหลักธรรมที่ยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรีเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ประกอบด้วยทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ฆราวาสธรรม 4 เป็นคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลกประกอบด้วยสัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะอิทธิบาท 4 เป็นหนทางสู่ความสำเร็จหรือเครื่องมือให้บรรลุถึงความสำเร็จประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสา

  3. การประยุกต์ใช้จิตสาธารณะของพุทธบริษัท ด้านการให้การแบ่งปัน พุทธบริษัท  มีการประยุกต์โดยการนำประชาชนกลับไปสู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงเน้นให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของสังคมเป็นใหญ่  ไม่บริโภคเกินความจำเป็น หรือเพราะความอยาก มีความสันโดษ พอใจที่จะมีกินมีอยู่ มีใช้เท่าที่จำเป็น รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น มีความเมตตาอาทรต่อกัน เห็นแก่ผู้อื่นเสมือนเห็นแก่ตนเอง และรู้จักหน้าที่ ด้านความมีน้ำใจ พุทธบริษัทมีการประยุกต์โดยการสั่งสอนให้ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ตั้งอยู่ในความสุจริต รู้จักบาปบุญ คุณและโทษ ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง ดำรงอยู่ในภาวะแห่งอารยะชน ไม่ละเมิดในสิ่งที่ผิดศีลธรรม อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม ผู้มีน้ำใจประกอบด้วยเมตตาปราณีเพ่งเล็งอยู่แต่จะให้ได้รับความสุขทั่ว ๆ กัน เห็นโอกาสจะช่วยได้สถานใด ก็ไม่ละเว้นในการที่จะช่วยให้บรรลุผลนั้น ๆ มีการสอนให้ละความชั่วประกอบความดี ด้านการไม่เอาเปรียบผู้อื่น  พุทธบริษัทมีการประยุกต์โดยการสั่งสอนให้มนุษย์เป็นมนุษย์เต็มตัวยิ่งขึ้น สอนให้มนุษย์ยุติธรรมโดยบอกว่าทุกคนให้เท่าเทียมกันอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และยอมรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อคิดเกี่ยวกับความมีดุลยภาพ กับชีวิตทุกระดับ ข้อคิดนี้สะท้อนออกมาในวิธีคารวะ สอนให้คนเสียสละ กระบวนการของการช่วยเหลือผู้อื่น ด้านการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม  พุทธบริษัทมีการประยุกต์โดยสั่งสอนให้คนรู้จักการเสียสละ หรือพฤติกรรมที่ทำเพื่อผู้อื่น อันที่จริงนั้นการเสียสละเป็นความดีที่สังคมทุกสังคมมีอยู่สถาบันทางศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อจิตใจของประชาชนเพราะต่างได้ยึดถือสถาบันนี้เป็นที่พึ่งทางใจมาอย่างเนิ่นนาน ฉะนั้น สถาบันทางศาสนาจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจของคนในสังคมให้หันเข้ามาอยู่ความถูกต้องตามทำนองครองธรรม และมีวิธีการพัฒนาจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด คือการสอนตัวเอง อันหมายถึงการที่ผู้อยู่ในสถาบัน องค์การทางศาสนาพึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนในสังคมในด้านการช่วยเหลือส่วนรวม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. สงวนศรี วิรัชชัย. (2548). จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพมหานคร: ศึกษาพรการพิมพ์.

2. พิสิฐเจริญสุข. (2549). คู่มือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กรมการศาสนา.

3. สุพัตรา สุภาพ. (2548). จิตวิทยาสังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.