ความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาล: กรณีศึกษาเทศบาลในจังหวัดนครสรรค์

Main Article Content

ดำรงศักดิ์ นาคกระจ่าง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์ และ 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์


การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี โดยการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ จากประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ นายกเทศมนตรี  ปลัดเทศบาล  หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล และบุคลากรด้านการทะเบียน  ที่ปฏิบัติงานในเทศบาลของจังหวัดนครสวรรค์  จำนวน  18  แห่ง รวมทั้งหมด 90  คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ ค่าความถี่ (Frequencies)  ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความสัมพันธ์ปัจจัยส่วนบุคคล กับ ความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไป โดยใช้การทดสอบ ไคสแควร์ (Chi-Square test) และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน 11 ท่าน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท


  ผลการวิจัยพบว่า


1) ระดับความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับในจังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (µ =3.32) เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือ ด้านความพร้อมด้านทรัพยากร (µ =3.40) ด้านความพร้อมของนโยบาย (µ =3.34) ด้านความพร้อมของบุคลากร (µ =3.29) ด้านความพร้อมของชุมชน (µ =3.29) และด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านความพร้อมของระบบองค์กร (µ =3.32)


2) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์ คือนายกเทศมนตรี  ปลัดเทศบาล หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล และบุคลากรด้านการทะเบียนที่มี เพศ อายุ ระดับการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน ไม่มีความสัมพันธ์ต่อความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาล : กรณีศึกษาเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์


3) ปัญหา อุปสรรค ต่อความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า เนื่องจากเทศบาลเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กระบวนการ ขั้นตอนเกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบ อาจจะใช้เวลาในการดำเนินงานนานพอสมควร จึงยังไม่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านเพื่อรองรับการถ่ายโอนงานทะเบียนทั่วไป และนโยบายที่จะถ่ายโอนยังไม่ชัดเจน ว่าจะถ่ายโอนให้เทศบาลทั้งหมดหรือบางส่วน ในการกำหนดนโยบายนั้น ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ แต่กำหนดนโยบายเอื้อต่อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ในขณะเดียวกันบุคลากรเจ้าหน้าที่มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะรับผิดชอบ ยังไม่มีความรู้ในด้านงานทะเบียนทั่วไป และงบประมาณไม่เพียงพอ ในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์ ตลอดจนเทศบาลได้ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นการรับการถ่ายโอนงานทะเบียนทั่วไป


ข้อเสนอแนะต่อความพร้อมต่อการรับถ่ายโอนภารกิจงานทะเบียนทั่วไปให้กับเทศบาลในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า เทศบาลต้องเตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ควรลดขั้นตอนในการดำเนินงานให้รวดเร็วต้องมีความชัดเจนด้านนโยบายที่จะถ่ายโอน ว่าจะถ่ายโอนให้เทศบาลทั้งหมดหรือบางส่วนในขณะเดียวกันต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อประโยชน์ของประชาชน และควรเพิ่มบุคลากรเจ้าหน้าให้เพียงพอต่องาน พร้อมทั้งมีการจัดอบรมความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความชำนาญ และรัฐบาลต้องสนับสนุนหรือจัดงบประมาณลงมาเพื่อให้เทศบาลนำไปใช้ในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือครุภัณฑ์เพื่อรองรับการถ่ายโอนงานภารกิจงานทะเบียนทั่วไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. กรมการปกครอง. (2552). พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร: กรมการปกครอง.

2. ประยงค์ เต็มชวาลา. (2540). การกระจายอำนาจ : ยุทธศาสตร์การปฏิรูปงานสาธารณสุขไทย. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคกลาง.

3. เพ็ญศรี สมศรี. (2546). “ปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายโอนงานทะเบียนราษฎรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะเทศบาลในจังหวัดจันทบุรี”. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะ. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาบูรพา.

4. เรวดี วงศาโรจน์. (2547). “ความพร้อมขององค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ต่อการรองรับการกระจายอำนาจในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ”. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

5. วัชรวรรณ ดวงสะเก็ด. (2555). “ความพร้อมของเทศบาลตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ต่อ การรับถ่ายโอนงานทะเบียนราษฎร” การค้นคว้าแบบอิสระรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.