การนำนโยบายสานพลังประชารัฐไปสู่การปฏิบัติ: กรณีศึกษาบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฉะเชิงเทรา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

Main Article Content

ชฎาพร หล่อประโคน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ เงื่อนไขที่ส่งผลต่อความสำเร็จ รวมทั้งปัญหาในการนำนโยบายสานพลังประชารัฐไปสู่การปฏิบัติ: กรณีศึกษาบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฉะเชิงเทรา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีแนวทางการวิจัย 2 รูปแบบ คือ การวิจัยโดยวิธีการทางเอกสาร และการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก


กระบวนการนำนโยบายสานพลังประชารัฐไปปฏิบัติ พบว่า คณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา (คสป.) ร่วมกับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ฉะเชิงเทรา ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฉะเชิงเทรา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และมีคณะกรรมการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดฉะเชิงเทรา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เป็นหน่วยงานหลักในการนำนโยบายไปปฏิบัติ


เงื่อนไขที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายสานพลังประชารัฐไปปฏิบัติ พบว่า 1) นโยบายสานพลังประชารัฐมีความชัดเจนมาก เพราะมีการจัดทำคู่มือประชารัฐรักสามัคคีออกมาหลายฉบับ 2) มีการสนับสนุนนโยบาย โดยการบูรณาการการทำงานกับหลายภาคส่วน 3) สมรรถนะองค์กรยังมีข้อจำกัด เนื่องด้วยผู้สนับสนุนนโยบาย มีภารกิจการทำงานหลายกลุ่ม 4) สิ่งจูงใจในการปฏิบัติงาน พบว่ายังไม่เพียงพอ 5) การจัดสรรทรัพยากร ยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ 6) การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอ เมื่อเทียบกับการดำเนินงานของบริษัท และปัญหาในการนำนโยบายสานพลังประชารัฐไปปฏิบัตินั้นพบปัญหาด้านเจ้าหน้าที่/คณะกรรมการบริษัท ปัญหาด้านผู้ประกอบการ และเรื่องของงบประมาณ


เพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน ภาครัฐควรสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเรื่องเป้าหมายและขั้นตอนการดำเนินงานให้ผู้ปฏิบัติรับทราบพร้อมนำไปปฏิบัติอย่างชัดเจน ควรมีแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทที่คล่องตัวมากกว่านี้ และปรับลดการควบคุมดูแลจากภาครัฐลง เนื่องด้วยเจตนารมณ์ของการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย. (2560). แนวทางการดำเนินงาน นโยบายสานพลังประชารัฐในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ.

คณะกรรมการกลุ่มปรับปรุงชุดวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน. (2554). เอกสารการสอนชุดวิชา นโยบายสาธารณะและการวางแผน. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ประชาไท. (2559). รัฐ-ทุนใหญ่-ภาคประชาชน จับมือตั้ง บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคีประเทศไทย จำกัด. สืบค้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://prachatai.com/journal/2016/04/65521

วรเดช จันทรศร. (2552). ทฤษฎีการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร: สมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย.

วรทัศน์ อินทรัคคัมพร. (2546). การส่งเสริมการเกษตรกับการพัฒนาชนบท. เชียงใหม่: ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2550). นโยบายสาธารณะ : แนวความคิดการวิเคราะห์และกระบวนการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เสมาธรรม.

สยามรัฐ. (2559). เดินหน้าจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี. สืบค้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://www.siamrath.co.th/n/3916