อิทธิพลของการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์

Main Article Content

พระมหาไสว สิริปญฺโญ
พระปลัดกัมพล ปญฺญาวุฑฺโฒ
รุ้งนภา ทับขุนทด

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องอิทธิพลของการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์ คือ  1) เพื่อศึกษาอิทธิพลของการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ 2) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ และ 3) เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมมีกลุ่มเป้าหมายดังนี้ คือ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) ในการสัมภาษณ์โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Positive Sampling) จำแนกผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ อาจารย์ประจำหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ 5 คน อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 5 คน นิสิตบรรพชิตและคฤหัสถ์ หลักสูตรสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ 10 คน นิสิตหลักสูตรสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 5 คน ชาวบ้านหรือผู้นำชุมชน 5 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 คน


             ผลการวิจัยพบว่า อิทธิพลของการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดบุรีรัมย์มีอิทธิพล 3 ประการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการต่อต้านทางวัฒนธรรมคือ 1) แรงผลักดันในที่ทำงาน 2) การติดต่อกันระหว่างกลุ่มสังคม 3) การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ


ส่วนปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ได้แก่ 1) การไม่มีเวลาในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ ไม่มีความตั้งใจ ไม่อดทน ไม่มีความเพียรพยายามในการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ 2) การยึดติดกับความเคยชินในสิ่งเดิม ๆ ไม่ยอมปรับตัวทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ  3) การเขินอายไม่กล้าออกเสียงสำเนียงให้เหมือนฝรั่ง 4) กลัวออกเสียงผิด 5) การไม่รู้คำศัพท์ซึ่งคนไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กเป็นเวลานานกว่าสิบปี จดจำคำศัพท์ได้หลายพันคำแต่เมื่อมีฝรั่งมาพูดด้วยกลับไม่สามารถเข้าใจเวลาแปลความหมายจากสิ่งที่ฝรั่งพูดก็จะแปลคำศัพท์ตรงตัว 6) การไม่รู้ไวยากรณ์ เช่นเดียวกันกับการไม่รู้คำศัพท์ ซึ่งเวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษก็จะนึกถึงประโยคโครงสร้างแกรมมา (Grammatical Structure)  แตกต่างจากการพูดภาษาไทยที่สามารถพูดได้ทันทีเนื่องจากความเคยชิน 7) การไม่ได้พูดมานานแล้วลืมเพราะคนไทยไม่ได้พูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน


              แนวทางการแก้ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษ คือ 1) ใช้การดูภาพยนตร์ต่างประเทศมีความสำคัญมากต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและด้วยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางด้านการเรียนรู้มีการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการสื่อสาร ภาพยนตร์นี้จะช่วยให้เราเรียนรู้โดยเห็นทั้งภาพและเสียงประกอบและภาพนั้นก็เป็นภาพเคลื่อนไหวจึงทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากและเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้เรียน 2) การจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการฝึกทักษะการสื่อสาร เช่น การบอกทิศทาง (Giving Directions) การบรรยายลักษณะบุคคล (Describing People) การพูดเพื่อขอคำแนะนำเป็นต้น เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกการพูด โดยใช้ภาษาให้ถูกต้องและเหมาะสมตามสถานการณ์และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในสถานการณ์จริง 3) บัตรคำศัพท์ที่มีการจัดหมวดหมู่กลุ่มคำศัพท์มาอ่านและท่องทีละหมวดทำให้สมองสามารถจดจำคำศัพท์ได้เป็นหมวดหมู่ซึ่งเป็นการจัดระเบียบความจำสนับสนุนให้การเรียนมีประสิทธิภาพ การนำแนวทางทั้งสามนี้มาผสานให้เกิดช่องทางในเรียนรู้ที่หลากหลายในชุมชนจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะก่อประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้คนในชุมชนได้พัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ตรง  


 

Article Details

บท
Research Articles
Author Biographies

พระปลัดกัมพล ปญฺญาวุฑฺโฒ, Mahachulalongkornrajavidyalaya University

Mahachulalongkornrajavidyalaya University

รุ้งนภา ทับขุนทด, Mahachulalongkornrajavidyalaya University

Mahachulalongkornrajavidyalaya University

References

เมธี อัจนากิตติ. (2547). ค่านิยมเชิงการท่องเที่ยวที่แฝงมากับคอลัมน์ voyage ในนิตยสาร anywhere. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ณัฏฐ์นรี ฤทธิรัตน์และดร. ธัญภา ชิระมณี. (2557). ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทย. การประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 15.
นงสมร พงษ์พานิช. (2550-2551). การศึกษาปัญหาของการพูดภาษาอังกฤษในการสื่อสารด้วยวาจาของนิสิตคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา. วารสารมนุษยศาสตร์. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 17, 1: 85 – 97.
ธิราภรณ์ พลายเล็ก.(2555). การพัฒนาทักษะการออกเสียงพยัญชนะท้ายคำภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา. รายงานวิจัย. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.
ชัยยา เปรมภักดิ์. (2543). การเปรียบเทียบความสามารถและเจตคติในด้านการฟัง-พูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้รับการสอนตามทฤษฎีการสอบแบบอรรถฐานและการสอนตามคู่มือครู. ปริญญานิพนธ์ กศ.ม. (การมัธยมศึกษา). กรุงเทพมหานคร: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วิทยา บุษบงค์. (2548). ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนตำบลแหลมตะลุมพุกอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 – 2547. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยทักษิณ.