หลักจริยธรรมในการตีพิมพ์

การตีพิมพ์บทความในวารสารที่บทความได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้น ๆ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพงานของผู้เขียนและผู้สนับสนุนทุกฝ่าย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุก ๆ ฝ่าย ได้แก่ ผู้เขียน บรรณาธิการวารสาร และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินคุณภาพบทความ จะรับรู้และยินยอมในหลักจริยธรรมการตีพิมพ์ร่วมกัน

หลักจริยธรรมในการตีพิมพ์สำหรับผู้เขียน

บทความที่ได้มาตรฐาน

เนื้อหาของบทความที่ผู้เขียนนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น ผลการวิจัยหรือการอภิปราย ในบทความวิจัย หรือบทวิจารณ์ต่าง ๆ ต้องมีถูกต้อง แม่นยำ ให้รายละเอียดอย่างเหมาะสม และมีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลด้วย เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมหรือต่อยอดงานวิจัยได้ ผู้เขียนต้องนำเสนอผลงานที่มิใช่การลักลอก หากมีการใช้ผลงาน ข้อมูล หรือเนื้อหาของผู้อื่น ผู้เขียนต้องเขียนอ้างอิงถึง และหรือขออนุญาต (ถ้าจำเป็น) บุคคลเหล่านั้นก่อนเสมอ ผู้เขียนที่นำเสนอเนื้อหาที่บิดเบือน ตกแต่งข้อมูลหรือมีเจตนาปกปิดแหล่งข้อมูลอ้างอิง และ/หรือลักลอกผลงานของบุคคลอื่น ถือว่ากระทำผิดต่อหลักจริยธรรมในการตีพิมพ์

การเข้าถึงข้อมูลบทความและการเก็บรักษาข้อมูลบทความของผู้เขียน

ผู้เขียนอาจได้รับการร้องขอจากกองบรรณาธิการ ให้ส่งข้อมูลบทความเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ผู้เขียนควรต้องเตรียมข้อมูลบทความให้พร้อมที่จะเปิดเผยในที่สาธารณะได้ และหากเป็นไปได้ ผู้เขียนควรต้องเก็บรักษาชุดข้อมูลเหล่านี้ไว้ตามเวลาอันสมควรหลังจากบทความได้รับการตีพิมพ์แล้ว

การแสดงความเป็นผู้เขียนบทความ

ผู้เขียนบทความหลัก หมายถึง บุคคลที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับงานส่วนหลัก ๆ ของบทความในทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบงานวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนผลงาน สำหรับบุคคลที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับงานส่วนหลัก ๆ เฉพาะบางส่วนให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้เขียนบทความร่วม สำหรับบุคคลที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องกับงานบางส่วน เช่น การปรับแก้ภาษา หรือการเก็บข้อมูลบางส่วนของงานวิจัย ให้แสดงกิตติกรรมประกาศถึงผู้นั้นไว้ที่ส่วนกิตติกรรมประกาศ

จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์: หลักจริยธรรมทั่วไป

หากงานวิจัย เป็นงานที่ต้องมีอาสาสมัคร ผู้เขียนจำเป็นต้องอ้างถึงหนังสือแสดงหรือความยินยอม ยอมรับ สมัครใจเข้าร่วมงานวิจัยของอาสาสมัครเหล่านั้น โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติสากล ซึ่งกำหนดหลักการสำคัญสามประการ ประกอบด้วย หลักความเคารพในบุคคล (Respect for Person) หลักคุณประโยชน์ไม่เป็นโทษ (Beneficence and Non-Maleficence) และหลักความยุติธรรม (Justice) ซึ่งหลักการทั้งสามมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมงานวิจัย และหากได้รับการร้องขอจากกองบรรณาธิการ ผู้เขียนจะต้องนำส่งสำเนาประกาศนียบัตรการเข้าร่วมอบรมหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ฉบับล่าสุด (ซึ่งมีอายุ 2 ปี นับจากวันออกประกาศนียบัตร หากประกาศนียบัตรหมดอายุ ผู้เขียนต้องเข้าอบรมใหม่เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร) และ/หรือสำเนาหนังสือแสดงความยินยอมยอมรับ สมัครใจเข้าร่วมงานวิจัยของอาสาสมัคร

การชี้แจงผลประโยชน์ทับซ้อน

ผู้เขียนบทความควรเขียนชี้แจงการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินหรือการสนับสนุนใด ๆ ก็ตามจากผู้อื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือไม่เลย เช่น การจ้างงาน ทุนวิจัย หรือการได้รับทุนสนับสนุนอื่น ๆ

 

หลักจริยธรรมในการตีพิมพ์สำหรับบรรณาธิการ

การอนุมัติให้บทความได้ลงตีพิมพ์

แม้ว่าบรรณาธิการจะเป็นผู้อนุมัติให้บทความได้ลงตีพิมพ์ บรรณาธิการควรรับฟังความเห็นจากกองบรรณาธิการและ/หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความนั้น ๆ เสียก่อน บรรณาธิการควรอนุมัติให้บทความได้ลงตีพิมพ์ โดยพิจารณาเฉพาะที่ตัวเนื้อหาสาระของงาน  โดยจะต้องไม่คำนึงถึงเรื่องเชื้อชาติ เพศสภาพ ความเชื่อทางศาสนา สัญชาติ และ/หรือความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เขียนบทความ นอกจากนี้บรรณาธิการจะต้องชี้แจงให้ผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความนั้น ๆ เข้าใจในหลักการตีพิมพ์บทความของวารสาร การสื่อสารใด ๆ ก็ตาม ของบรรณาธิการ ผู้เขียน และผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความ จะต้องทำผ่านระบบ ThaiJO เท่านั้น

การพิจารณาบทความ

บรรณาธิการต้องปกปิดข้อมูลของผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยในการพิจารณากลั่นกรองบทความของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยทั้งสองท่านนั้น บรรณาธิการต้องควบคุมการพิจารณากลั่นกรองให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและตรงต่อเวลา ทั้งนี้บรรณาธิการต้องเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับงานของผู้เขียนให้มากที่สุด

การเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ

บรรณาธิการต้องเก็บรักษาข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้เขียนส่งมาให้วารสาร รวมถึงข้อความที่ติดต่อสื่อสารกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่กลั่นกรองบทความให้เป็นความลับ และต้องไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ยกเว้นแต่ผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่กลั่นกรองบทความนั้นจะอนุญาตให้เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้

การชี้แจงผลประโยชน์ทับซ้อน

บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสาร ถ้าหากตนเอง บุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานเป็นผู้เขียนบทความ โดยการส่งบทความเพื่อพิจารณาคุณภาพบทความนั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนปรกติทุกประการ โดยสมาชิกจากกองบรรณาธิการจะต้องเป็นผู้เลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่กลั่นกรองบทความนั้น พร้อมปกปิดชื่อและข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิไม่ให้ผู้เขียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวได้รับรู้

 

หลักจริยธรรมในการตีพิมพ์สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณากลั่นกรองบทความ

การกลั่นกรองบทความอย่างเป็นธรรมและตรงต่อเวลา

ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณากลั่นกรองบทความต้องพิจารณาบทความของผู้เขียนอย่างตรงต่อเวลา และเป็นธรรม โดยให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะอย่างเป็นกลาง ไม่นินทาว่าร้ายผู้เขียน หากผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการติดต่อจากบรรณาธิการเพื่อให้พิจารณากลั่นกรองบทความ แต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ท่านต้องรีบแจ้งบรรณาธิการพร้อมกับปฏิเสธการพิจารณากลั่นกรองบทความนั้นผ่านระบบ ThaiJO ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

การเก็บรักษาข้อมูลเป็นความลับ

ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณากลั่นกรองบทความต้องเก็บรักษาเนื้อหาของบทความรวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้เขียนให้เป็นความลับ และต้องไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ยกเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนและบรรณาธิการให้เปิดเผยหรือใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้

การแจ้งเตือนบรรณาธิการเรื่องหลักจริยธรรมการวิจัย

ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณากลั่นกรองบทความต้องแจ้งเตือนบรรณาธิการหากพบว่าผู้เขียนบทความกระทำผิดเรื่องหลักจริยธรรมการวิจัย โดยอาจมีการลักลอกผลงานจากบุคคลอื่น หรือนำผลงาน คำพูด การแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่นมาใช้เสมือนเป็นงานของตนเองโดยไม่มีการใส่ข้อมูลอ้างอิงให้ถูกต้องเหมาะสม หรือใส่อย่างบิดเบือน