กระบวนการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลาดสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้แต่ง

  • สุชาดา กะมะลานนท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

กระบวนการจัดการ, สิ่งแวดล้อม, ชุมชนตลาดสามชุก

บทคัดย่อ

บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาตลาดสามชุกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 2) ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนหลังจากการพัฒนาตลาดสามชุกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 3) การจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลาดสามชุกหลังการพัฒนาตลาดสามชุกเป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และเสนอแนะแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักในพื้นที่ตลาดสามชุก ด้วยการสัมภาษณ์ การสังเกต และการสนทนากลุ่ม แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลการศึกษาพบว่า

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดสามชุกเกิดการพัฒนาจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านกายภาพและสังคมวัฒนธรรม 2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ 3) ปัจจัยด้านศักยภาพของชุมชนและทุนทางสังคม 4) ปัจจัยด้านการเข้ามาสนับสนุนขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ 5) ด้านนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว 6) ปัจจัยด้านการสื่อสาร 7) ปัจจัยด้านองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยว โดยตลาดสามชุกมีสิ่งดึงดูดใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน สามารถเดินทางไปได้ไม่ยาก มีกิจกรรมในการเที่ยวชม และสามารถหาที่พักได้โดยรอบบริเวณตลาด

ผลกระทบจากการพัฒนาตลาดสามชุกจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านสังคม เกิดจากการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนตลาดสามชุกและเทศบาลดีขึ้น รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ชาวบ้านมีผลประโยชน์ร่วมกัน บทบาทการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนมีมากขึ้น และเกิดการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายในชุมชนในการเข้าร่วมกิจกรรม แต่กลับทำให้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนภายในชุมชนตามวิถีชีวิตชุมชนเดิมลดลง จำนวนประชากรในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น พร้อม ๆ กับมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีขึ้นมาใหม่ เศรษฐกิจของตลาดสามชุกกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เกิดการกระจายรายได้ และเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนทั้งภายในและภายนอกชุมชน อาคารบ้านเรือนในชุมชนตลาดสะอาดและได้รับการปรับปรุงซ่อมแซม แต่ต้องเจอกับปริมาณขยะที่มีเพิ่มขึ้น

การจัดการสิ่งแวดล้อมของตลาดสามชุกเมื่อมีการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกิดจากการที่ชาวบ้านเข้าร่วมวางแผน และดำเนินการผ่านคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์และมูลนิธิชุมชน ในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพและภูมิทัศน์ การจัดการสิ่งแวดล้อมด้านขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านน้ำเสีย

ข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนตลาดสามชุกด้านกายภาพและภูมิทัศน์ ด้านขยะ และด้านน้ำเสีย ควรเน้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในกับหน่วยงานภายนอก ด้วยการพัฒนาความรู้ ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน

References

คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก. (2549). สืบสานงานศิลป์ ถิ่นสามชุก. สืบค้นจาก: http://resource.thaihealth. or.th/library/hot/12697

พรรณงาม เง่าธรรมสารและปรีดา คงแป้น. (2552). ย้อนมอง...สามชุก ตลาดร้อยปี กว่าจะถึงวันนี้. สุพรรณบุรี: คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก.

ธีรวดี จำเดิม. (2549). ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชนเวียงกุมกาม อำเภอสารภี จังหวังเชียงใหม่. (การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

วลัยพร ลิ่มบุญญรัตน์. (2547). ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ: กรณีศึกษาชุมชนบ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่. (การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัย เชียงใหม่).

ศรีไพร พริ้งเพราะ (2547). การพัฒนาการท่องเที่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชุมชน: บูรณาการการจัดการแสดงของช้างในบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์. (วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

ศุภลักษณ์ ล้อมลาย. (2550). การจัดการสิ่งแวดล้อมของชุมชนตามโครงการเชียงใหม่หน้าอยู่. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์. (2550). การจัดการความรู้และการจัดการการเรียนรู้. (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

เอกณรงค์ ขวดแก้ว. (2549). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม บ้านสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. (การค้นคว้าแบบอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).

อุทัย ดุลเกษม และ อรศรี งามวิทยาพงศ์. (2540). ระบบการศึกษากับชุมชน: กรอบแนวคิดและข้อเสนอเพื่อการศึกษาวิจัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-05-30