พุทธศาสนาจะวิกฤต ต้องคิดให้ไกล รู้ให้ทัน
คำสำคัญ:
พุทธศาสนา, วิกฤต, คิดให้ไกล, รู้ให้ทันบทคัดย่อ
บทความวิจารณ์หนังสือพุทธศาสนาจะวิกฤติ ต้องคิดให้ไกล รู้ให้ทัน เป็นการบรรยายธรรมของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) มีวัตถุประสงค์ในการวิจารณ์เพื่อนำเสนอจุดเด่นและข้อบกพร่องของสาระธรรมที่ได้เรียบเรียงขึ้น ซึ่งท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นวิกฤติต่อพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง (1) เหตุผลที่แท้จริงในการตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา (2) ความสำคัญของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (3) จดหมายตอบ นพ.บรรจบ ชุณสวัสดิกุล เรื่อง “จิตวิญญาณ” และ (3) ภาพสะท้อนของการศึกษาไทยจากหนังสือพระมโน โดยเป็นการพูดถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา อันเนื่องมาจากเสรีภาพตามหลักพุทธศาสนา ที่มีอิสระไม่บังคับ ทุกคนจึงมีสิทธิ์จะถือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ไม่รังเกียจ ไม่ระแวงระวัง ไม่ป้องกันตัวเอง แต่คอยให้โอกาสคนอื่น จนกลายเป็นจุดอ่อนร้ายแรง ที่ทำให้ศาสนาพุทธมีภัย จนอาจทำให้พระพุทธศาสนาเกิดวิกฤติ ซึ่งผู้วิจารณ์พบว่าโครงสร้างเนื้อหาเป็นไปอย่างมีระบบ แบ่งเป็นบทชัดเจน แต่ย่อหน้าไม่สะดวกต่อการอ่าน เพราะไม่มีหมายเลขข้อกำกับไว้ข้างหน้าอย่างชัดเจน สำหรับในส่วนเนื้อหา มีคุณค่าต่อพระพุทธศาสนามาก เป็นสิ่งที่ชาวพุทธจำเป็นต้องคิดให้ไกล และรู้ให้ทัน และถึงแม้เป็นหนังสือธรรมะ แต่ไม่ค่อยมีคำบาลี แต่ก็มีการอธิบายความให้ผู้อ่านเข้าใจได้ มีการยกตัวอย่างประกอบ และใช้ภาษาที่ชวนให้ผู้อ่านคิดพิจารณาตามตลอดการดำเนินเรื่อง ถึงแม้ว่าสาระธรรมอาจจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมายและการปกครองที่ค่อนข้างยากสำหรับผู้ริเริ่มศึกษาธรรม แต่ก็มีเนื้อหาที่มุ่งขจัดนานาปัญหา ที่จะเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับประเทศไทยไปตราบนานเท่านาน
References
ชัยอนันต์ สมุทวณิช. (2542). วิกฤติพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. (2542). วิกฤติพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2555). พุทธศาสนาจะวิกฤติ ต้องคิดให้ไกล รู้ให้ทัน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.
พุทธทาสภิกขุ. (2541). ปัญหา หรืออุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
