การสร้างสรรค์เพลงดูเอ็ตด้วยแนวกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์ จากทำนองพื้นบ้านไทยสี่ภาค
DOI:
https://doi.org/10.59796/rmj.V20N1.2025.R0204คำสำคัญ:
แนวกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์, เพลงพื้นบ้าน, กีตาร์ดูเอ็ตบทคัดย่อ
เครื่องดนตรีประเภทกีตาร์ เช่น กีตาร์โปร่งสายเหล็ก กีตาร์โปร่งสายไนล่อนและกีตาร์ไฟฟ้าสามารถใช้เป็นเครื่องสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนทั่วไป อีกทั้งยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสังคมไทย กีตาร์โปร่งสายเหล็กซึ่งมักเรียกกันว่ากีตาร์โฟล์คได้พัฒนารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านเทคนิคการเล่นในรูปแบบฟิงเกอร์สไตล์ ซึ่งในยุคปัจจุบันการบรรเลงกีตาร์สไตล์นี้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักกีตาร์ที่มีชื่อเสียงได้สนใจประพันธ์หรือเรียบเรียงบทเพลงให้เข้ากับวิธีการเล่นในแบบฟิงเกอร์สไตล์ เช่น ไมเคิล เฮดเจ็ดซ์ (Michael Hedges) โทมัส ลีบ (Thomas Leeb) หรือราล์ฟ ทาวเนอร์ (Ralph Towner) ในการนี้จึงทำให้กีตาร์อะคูสติกได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและเป็นที่ประจักษ์สำหรับผู้ชื่นชอบเสียงของกีตาร์โปร่ง
เทคนิคการเล่นกีตาร์แนวฟิงเกอร์สไตล์ส่วนใหญ่ให้เสียงที่ทำกังวานได้มากเนื่องจากนิยมใช้ฮาร์โมนิก โดยบรรเลงพร้อมกับการเคาะลงบนลำตัวหรือบนเฟร็ตทั้งมือซ้ายและขวาเพื่อให้เกิดมีแนวดนตรีแบบโฟลีโฟนี กีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์นิยมการตั้งสายแบบพิเศษซึ่งสามารถสร้างเสียงประสานได้จากเพียงการดีดสายเปล่า เพื่อให้เกิดเสียงที่สั่นพ้องเพื่อช่วยสนองความต้องการของผู้เล่นในทางปฏิบัติ การเรียบเรียงในแนวฟิงเกอร์สไตล์มุ่งประเด็นในการผสมผสานระหว่างการประพันธ์เพลงและการใช้คีตปฏิภาณ ซึ่งมักวางโครงสร้างหลักไว้ 3 ส่วนคือ แนวทำนองแนวคอร์ดและแนวเบสโดยอาจเล่นไปพร้อมกันหรือสลับกันไปมา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้เรียบเรียง แต่กระนั้นพบว่าจะมุ่งไปที่การสร้างกระสวนจังหวะที่ต่อเนื่องซ้ำ ๆ มากกว่าแนวทำนอง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยชื่อ อัลบั้มกีตาร์ดูเอ็ต : บทเพลงพื้นบ้านสี่ภาคสำหรับกีตาร์คลาสสิก ฟิงเกอร์สไตล์และกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2566 บทความนี้มุ่งนำแนวคิดกลวิธีการเรียบเรียงกีตาร์ดูเอ็ตไปใช้กับกีตาร์แบบฟิงเกอร์สไตล์ ซึ่งมีการแบ่งกระบวนการวิจัยออกเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียบเรียงกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์ ขั้นที่สอง ผู้วิจัยคัดเลือกทำนองเพลงจาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทยที่ได้ค้นคว้ามาจากสื่อออนไลน์ยูทูปขั้นตอนสุดท้ายเป็นการนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับกีตาร์ดูเอ็ตโดยบทความฉบับนี้มุ่งนำเสนอแนวทางของกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์เป็นหลัก
ผู้วิจัยลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านการประพันธ์หรือเรียบเรียงสำหรับกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์จำนวน 4 คน คือ บุญชอบ ถนอมวงศ์ธนา (วันที่ 17 กันยายน 2566) ฆ้อง มงคล (วันที่ 24 กันยายน 2566) พิจักษณ์ วีระไทย (วันที่ 1 ตุลาคม 2566) และกฤษณ์ บาลไทยสงค์ (วันที่ 8 ตุลาคม 2566) ผู้วิจัยคัดเลือกคำถามสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างที่สามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย บทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์ช่วยให้ผู้สัมภาษณ์สอบถามได้อย่างต่อเนื่องในประเด็นที่น่าสนใจและเป็นธรรมชาติ เพื่อรับทราบถึงข้อมูลเชิงลึกอีกด้วย เทปสัมภาษณ์ได้ถูกถอดเสียงแบบคำต่อคำด้วยซอฟต์แวร์ VB-CABLE Virtual Audio Device ซึ่งช่วยให้สามารถถอดเสียงคำพูดให้เปลี่ยนเป็นข้อความลงในโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด จากนั้นจึงตรวจสอบการถอดเสียงโดยมุ่งประเด็นเป็นพิเศษกับคำศัพท์ทางดนตรี และตรวจความถูกต้องให้แน่ใจว่าคำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์มีความชัดเจนเพื่อที่จะนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่แนวทางการเรียบเรียง บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการเรียบเรียงผ่านการวิเคราะห์เพลงแนวกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์ที่คัดเลือกไว้จำนวน 4 เพลงจากทำนองพื้นบ้าน 16 เพลง ได้แก่ ล่องแม่ปิง ปูโจ๊ะปีซัง เพลงเหย่ย และนกไซบินข้ามทุ่ง
การเรียบเรียงเพลงลองแม่ปิงมุ่งเน้นการใช้การประสานเสียงของกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์อย่างเรียบง่าย ขณะที่กีตาร์แนวที่สองทำหน้าที่บรรเลงเสริมทำนองในย่านเสียงต่ำได้อย่างเหมาะสม ต่อมากีตาร์แบบฟิงเกอร์สไตล์จะเปลี่ยนเป็นเล่นคอร์ดโดยผสมผสานเทคนิคการเคาะสายด้วยนิ้วโป้งมือขวาเพื่อสร้างสีสันของเสียงที่น่าประทับใจ อีกทั้งกีตาร์แนวที่สองก็ทำหน้าที่ประสานเสียงให้กับทำนองเพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับดูเอ็ตโดยรวมเป็นอย่างดี สำหรับเพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อว่า ปูโจ๊ะปีซัง การเรียบเรียงจะเน้นไปที่การใช้เทคนิคบูมชิคเพื่อแสดงถึงองค์ประกอบสำคัญในการจัดวางโครงสร้างเสียงประสาน รวมถึงการเล่นคอร์ดโครมาติกที่สามารถเพื่อเพิ่มสีสันให้กับบทเพลง ในขณะที่กีตาร์ไฟฟ้าแนวที่สองเล่นทำนองเคาน์เตอร์พอยท์ประสานสนับสนุนการเล่นกีตาร์ฟิงเกอร์สไตล์
แนวทางการเรียบเรียงเพลงเหย่ยได้รับอิทธิพลจากเทคนิคการประพันธ์ดนตรีแบบอิมเพรสชันนิซึม โดยเฉพาะในด้านพื้นผิวของเสียงและกระสวนจังหวะ กีตาร์ดูเอ็ตเพลงเหย่ยถูกออกแบบให้ได้อรรถรสของการเลียนเสียงกลองพื้นบ้านภาคกลางแบบดั้งเดิม โดยผสมผสานเทคนิคการเล่นฮาร์โมนิกที่เป็นแบบฉบับเฉพาะ รวมถึงการเคาะลำตัวกีตาร์เพื่อให้ผู้ฟังได้อรรถรสแบบแผนการตีกลองพื้นบ้านจากน้ำเสียงของกีตาร์ ท่วงทีของกระสวนจังหวะที่ได้รังสรรค์ขึ้นจากเทคนิคการเคาะลำตัวกีตาร์จะกระตุ้นให้ผู้ฟังระลึกถึงน้ำเสียงดนตรีพื้นบ้านภาคกลางที่เรียบเรียงได้สอดคล้องกับบรรยากาศของบทประพันธ์ที่พบในดนตรีแบบอิมเพรสชันนิซึม สำหรับเพลงนกไซบินข้ามทุ่งซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านอีสานที่มีลักษณะจังหวะที่มีชีวิตชีวานั้น ได้รับการเรียบเรียงเพื่อเน้นเทคนิคการเล่นแบบฟิงเกอร์สไตล์ที่แสดงให้เห็นถึงความสดใส ผ่านเทคนิคการเคาะที่ลำตัวโปร่งและขอบด้านบนของกีตาร์โดยสามารถเลียนแบบจังหวะของกลองภาคอีสานได้อย่างลงตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเทคนิคการเรียบเรียงให้เหมาะกับรูปแบบทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงกล่าวได้ว่า ผลการวิจัยนี้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้การสร้างสรรค์และเรียบเรียงเพลงสำหรับกีตาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของทำนองเพลงพื้นบ้านทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดแรงผลักดันทางวิชาการ เพื่ออภิปรายจุดเชื่อมโยงระหว่างดนตรีพื้นบ้านและการเรียบเรียงดนตรีสำหรับกีตาร์ร่วมสมัยในวงกว้าง
References
Berlin, Brian Douglas. “Content Analysis of Guitar Repertoire for Young People: The Michelson and Suzuki Collections.” DME diss., Liberty University, 2021.
Caluda, Glenn Joseph. “The Development of a Method for Teaching Fundamentals of Guitar to College Students in Music Education and Music Therapy Curricula.” PhD diss., Louisiana State University, 1985.
Gustafson, Grant. “Class Guitar in Middle School: The Guitar, an Ideal Instrument for Students in Middle School, can be used to Study Music of all Genres and Styles.” Music Educators Journal 83, 1 (1996): 33-38. DOI: https://doi.org/10.2307/3398992
Lutton, Gary. “Contemporary Steel-String Fingerstyle Guitar: Developing New Vocabulary and Improvisational Approaches.” PhD diss., UIs University, 2019.
Meltz, Joan A. “The Guitar as a Classroom Instrument." American Music Teacher 26, 2 (1976): 12-15.
Mongkon, Khong. (Lecturer, Western Music Department, Faculty of Humanities and Social Sciences, Rajanagarindra Rajabhat University), Interview by Kawin Phusrithet. September 24, 2023. (in Thai)
Prato, Diego Enrique. “Developing Unification in the Teaching and Learning of Jazz and Classical Guitar.” PhD diss., University of Salford, 2017.
Raitt, Donovan E. “The Music of Michael Hedges and the Re-Invention of Acoustic Fingerstyle Guitar.” Master’s Degree, California State University, 2011.
Sawaingam, Settasak, and Chalermsak Pikulsri. “Concept and Music Composition for Fingerstyle Guitar of Pijak Weerathai.” Journal of Fine and Applied Arts, Khon Kaen University 12, 2 (2020): 1-21. (in Thai)
Suwanpakdee, Suppabhorn. “Sounds of Lisu Music to New Music for Guitar and String Quartet.” Malaysian Journal of Music 7 (2018): 159-179. DOI: https://doi.org/10.37134/mjm.vol7.9.2018
Tat AmaroNU. “24 Thai Regional Folk Songs for Guitar Duet.” Youtube Playlist, 24 videos. September 19, 2024. https://www.youtube.com/playlist?list=PLYY127uWeEJb8DO7oZK8iAS5XhNHXJ3MH.
Taychasay, Taya. “Rong-Ngeng Song Arranged for Flamenco Guitar Style.” Parichart Journal 34, 2 (2021): 201-215. (in Thai)
Weangsamut, Rattasat, Chalermsak Pikulsri, and Pongpitthaya Sapaso. “Creative Work for Guitar Sonata of Isan Melodies.” Rangsit Music Journal 17, 1 (2022): 88-103. (in Thai)
Weerathai, Pijak. (Visiting Lecturer, Western Music Department, Faculty of Fine and Applied Arts, Khon Kaen University). Interview by Kawin Phusrithet. October 1, 2023. (in Thai)
Wisaijorn, Danuchate. “Isaan Music Composition for Classical Guitar.” Journal of Graduate School Pitchayatat, Ubon Ratchathani Rajabhat University 14, 1 (2019): 49-57. (in Thai)
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2025 วารสารดนตรีรังสิต

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.