การพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ของนักศึกษา ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยใช้การนิเทศตามกระบวนการระบบพี่เลี้ยง
คำสำคัญ:
: การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning การนิเทศตามกระบวนการระบบพี่เลี้ยง นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูโดยใช้การนิเทศตามระบบพี่เลี้ยง และ 2) ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการนิเทศตามระบบพี่เลี้ยง เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยคือ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ซึ่งศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งผู้วิจัยเป็นอาจารย์นิเทศก์ จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบบันทึกการนิเทศ 2) แบบบันทึกการสังเกตชั้นเรียน 3) แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning 4) แบบประเมินพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning 5) แบบประเมินพฤติกรรมการสอนทั่วไป 6) แบบบันทึกการสะท้อนผลการสังเกตชั้นเรียน และ 7) แบบบันทึกการทบทวนหลังการปฏิบัติ ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยโดยการประเมินความเหมาะสมโดยผู้ทรงคุณวุฒิของคณะครุศาสตร์ เครื่องมือทุกฉบับมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยดำเนินการนิเทศตามระบบพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) โดยอาจารย์นิเทศก์และครูพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาทั้งแบบตัวต่อตัวและแบบออนไลน์ กระบวนการนิเทศตามระบบพี่เลี้ยงแบ่งเป็น 2 ระยะ แต่ละระยะ มีขั้นตอนการนิเทศ 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นวางแผน คือ ประชุมชี้แจง ให้ความรู้ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ 2) ขั้นปฏิบัติและสังเกต เป็นการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาตามแผน โดยมีอาจารย์นิเทศ ครูพี่เลี้ยง และครูนิเทศก์ ทำการสังเกตชั้นเรียน บันทึกการสังเกตและประเมินพฤติกรรมการสอนของนักศึกษา 3) ขั้นสะท้อนผล เป็นการประชุมสะท้อนผลการสังเกตชั้นเรียนโดยให้นักศึกษาสะท้อนผลด้วยตนเองแล้วจึงตามด้วยการสะท้อนผลของ ครูพี่เลี้ยง ครูนิเทศก์ และอาจารย์นิเทศตามลำดับ ในระยะที่ 2 ในขั้นวางแผน นักศึกษาจะนำข้อเสนอแนะจากระยะที่ 1 มาปรับปรุงการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน หลังจากเสร็จสิ้นการนิเทศทั้งสองระยะ มีการประชุมทบทวนหลังการปฏิบัติ (After Action Review : AAR) เพื่อให้นักศึกษาสะท้อนผลในภาพรวมและถอดบทเรียนจากการได้รับการนิเทศ การวิจัยนี้วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
- ผลการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ของนักศึกษา
ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูโดยใช้การนิเทศตามระบบพี่เลี้ยง พบว่า นักศึกษาทั้งสี่คนสามารถจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ มีพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning และมีพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นดำเนินการสอน โดยมีคะแนนเฉลี่ยระยะที่ 1 เท่ากับ 2.56 ระยะที่ 2 เท่ากับ 3.49 จากระบบคะแนน 4 ระดับ คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 23.13 เมื่อพิจารณาผลการประเมินรายด้านพบว่า แผนการจัดการเรียนรู้มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 3.25 เป็น 3.83 คิดเป็นร้อยละ 14.58 พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.60 เป็น 3.00 คิดเป็นร้อยละ 35.00 และพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2.83 เป็น 3.63 คิดเป็นร้อยละ 19.79
- ผลการสะท้อนการเรียนรู้เชิงคุณภาพโดยรวมพบว่า สิ่งนักศึกษาได้สำรวจข้อดีของ
ตนเองว่าสามารถจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนมีส่วนร่วม และจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความสุขได้ดี สิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากการนิเทศคือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active learning ให้ความสำคัญกับการสร้างสถานการณ์ปัญหาโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม การตั้งคำถามกระตุ้นการคิด การจัดกิจกรรมกลุ่มให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กัน การให้โอกาสนักเรียนได้คิดไตร่ตรอง ทบทวนความรู้หรือสร้างความรู้ด้วยตนเอง การออกแบบกิจกรรมที่สะท้อนผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัด โดยให้ความสำคัญในการเรียนรู้ที่ความหมาย และเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง นักศึกษารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ฝึกฝนทักษะการสอนของตนอย่างใกล้ชิดและเป็นระบบจากคณะผู้นิเทศ โดยมีผู้บริหารโรงเรียนให้การสนับสนุน เพื่อให้ตนเองพร้อมที่จะเป็นครูที่มีประสิทธิภาพในการสอนต่อไป